21 ธันวาคม 2555

พระอุปคุต อรหันต์ผู้พิทักษ์โลก

มีเรื่องเล่าไว้ในพระคัมภีร์พุทธศาสนารุ่นหลังๆว่าได้มีพระอรหันต์รูปหนึ่ง ซึ่งมีฤทธานุภาพมากท่านได้ปลีกวิเวกจำพรรษาอยู่ใต้ท้องทะเลลึก ไม่คบหาสมาคมกับผู้ใด จะรู้ได้ก็เฉพาะพระผู้ที่มีญานสมาธิแก่กล้าเท่านั้น เนื่องจากเอกลักษณ์วัตรปฏิบัติท่านเป็นเช่นนั้น จึงถูกคณะสงฆ์ปรับอาบัติเข้ามาทำงานให้กับส่วนรวม

ในคราวสังคายนาพระธรรมวินัย เพื่อความไม่ประมาท คณะสงฆ์จึงได้ลงมติปรับให้ท่านได้ใช้ความสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลต่อหมู่คณะ โดยให้ทำหน้าที่คุ้มครองป้องกัน “มาร” ที่จะมารังควานช่วงที่กำลังทำสังคายนา

คำว่า “มาร” ในตำราหมายเอามารที่บังอาจเข้าอาราธนาพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน โดยอ้างว่าบัดนี้งานที่พระองค์ต้องการทำก็ได้สมดังปรารถนาแล้ว พระธรรมวินัยก็ตั้งมั่นในโลกได้แล้ว ก็น่าจะปรินิพพานได้แล้ว... พระองค์ก็ทรงได้รับนิมนต์และได้ดับขันธ์ในเวลาต่อมา.....นัยว่ามารผู้นี้ได้เคยพ่ายแพ้สลายตายไปตั้งแต่ครั้งที่พระพุทธองค์ทรงได้ตรัสรู้โน่นแล้ว......นัยว่าพระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของเทวดา มาร พรหมและหมู่สัตว์ พร้อมทั้งมนุษย์ทั้งหลาย แล้วทำไมใยต้องมารังควานพระองค์อีกล่ะ ก็ไหนว่าพระองค์เป็นผู้พิชิตมาร....ก็มารได้ตายไปแล้วไม่ใช่หรือ ทำไมต้องให้ท่านอุปคุตเป็นผู้มาปราบมารอีกด้วยเล่า.....นี่คือปมปริศนาภาษาศาสนาระหว่างสมมติกับปรมัตถ์ ปุคคลาธิษฐานและพระธรรมธิษฐาน ที่อิงอาศัยกันอยู่

ความจริงมารหมายเอาอารมณ์ที่ขัดขวางการเข้าถึงมรรคผลนิพพาน เป็นเรื่องของความคิด ความอยาก ความปรุงแต่งจิตใจ ความใคร่ ง่วงเหงา ท้อแท้ หดหู่ เบื่อหน่าย ฯลฯ อารมณ์ที่ทำให้จิตขาดสติสมาธิ หรืออารมณ์ที่ติดอยู่ในใจ ปล่อยวางลบทิ้งออกไปยังไม่ได้

งานใหญ่ๆ สำคัญๆ เช่น งานสังคายนาพระไตรปิฎก งานบุญพระเวสสันดร งานบุญฉลองหรือปอยหลวงทั้งหลายล้วนมักจะได้รับความไว้วางใจเลือกใช้บริการ...ในประเทศไทยก็มักจะนิยมทำพิธีอาราธนาอัญเชิญมาคุ้มครองพิธีกรรม พร้อมทั้งสร้างหอหรือศาลพระอุปคุตมีชุดอัฐบริขารให้เสร็จสรรพ โดยเขามักจะตั้งสมมติไว้ ณ ที่สงบมุมใดมุมหนึ่งหรือซุ้มประตูทางเข้างาน จะได้คอยป้องกันตรวจตรามารผู้เข้าออกไปมาในงานนั้นๆ

รูปปั้นตามจิตนาการที่เรามักได้เห็นกันคือ รูปภิกษุมีใบบัวแปะบนหัว กำลังนั่งล้วงบาตรฉันอาหารอยู่ นั่นแหละเขาหมายเอาพระอุปคุต บางแห่งก็เขียนเป็นอุปคุปต์

โดยความหมายที่แท้จริงในแง่ของปรมัตถ์ พระอุปคุตเป็นสภาวธรรมที่อุปโลกน์เป็นตัวตนที่จับต้องได้ เพื่อให้เกิดการเรียกขวัญและกำลังใจในการทำสิ่งอันเป็นมหากุศล เป็นสภาวะวิปัสสนาญาณ หรือปัญญาที่เกิดจากการพัฒนาจิตแบบพลิกชีวิต พลิกโลกกันเลยทีเดียว เราเคยได้ยินมาแต่ก็เฉพาะเรื่องการเข้าจำพรรษาทำความเพียรฝึกจิตในสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ เช่น ในเรือนว่าง กองฟาง ป่าช้าผีดิบ ถ้ำ เหว ฯลฯ แต่ในเรื่องนี้ปราชญ์ท่านสร้างเรื่องว่าตัวพระอุปคุตท่านลงลึกไปอยู่ใต้ท้องทะเลมหาสมุทรเกินความสามารถมนุษย์สุดจะคาดคิดดลเดาสภาวะได้

ผู้ใดจะพัฒนาจิตฝืนใจตัวเองเพื่อเข้าถึงวิปัสสนาญาณนั้น จะต้องใช้ความศรัทธา พยายาม สติและสมาธิอันสูงยิ่ง ท่านอุปมาว่าประดุจดังการลงไปจำพรรษาอยู่ใต้มหาสมุทรทำในสิ่งที่ฝืนใจและไม่คาดคิดว่าจะเป็นไปได้

จิตคือพระ น้ำคืออารมณ์ ความคิดอันมากมายที่เข้าแทรกซึมอยู่ทุกอณูชั้นเปลือกของจิต เว้นไว้แต่พุทธจิตธรรมญาณที่เป็นแก่นธรรมแท้อยู่ท่ามกลางความคิด สังขาร สัญญา อารมณ์ได้ แม้จะอย่างไรตัวสภาวธรรมนี้ก็ไม่เสื่อม สัจจะสภาวะของจิตเช่นนี้แหละที่จะดูแลตัวมันเองหรือรักษาดูแลโลกทั้งปวง โลกธาตุทั้งแปดหมื่นสี่พัน โลกของกายและโลกของจิต โลกนี้และโลกหน้าจะกลายเป็นโลกแห่งธรรม ธรรมชาติของวิปัสสนาญาณจะให้กำเนิดเกิดกุศลมูล กุศลธรรม ตามมามากมาย อาจเรียกได้ว่าถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์กันเลยทีเดียว

เวลาสมัยที่ทำภารกิจใหญ่ๆ สำคัญๆ คนหมู่มากมักจะต่างความคิดความเห็น จำเป็นต้องใช้สติปัญญาอันยิ่งในการรักษาสภาวะจิตของใครของมัน นักปราชญ์พุทธจะเตือนสติให้คนระลึกถึงพระอุปคุต “อยู่คนเดียวระวังความคิด อยู่ร่วมหมู่มิตรระวังวาจากายคุตโต วจีคุตโต อตฺตคุตโต จะ โย นโร คือให้ทุกคนสำรวมกาย วาจา จิต ผู้ทำได้ผู้นั้นชื่อว่ารักษาตน ผู้ใดรักษาตนผู้นั้นชื่อว่ารักษาผู้อื่น และชื่อว่ารักษาโลกทั้งสองด้วย คือทั้งโลกนี้และโลกหน้า

นัยว่าโลกนี้จะเจริญรุ่งเรืองดำรงอยู่ได้ก็เพราะมีธรรมสองประการคอยคุ้มครองปกปักรักษาเรียกว่าธรรมโลกบาล คือหิริ ความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่ออกุศลจิต, คุ้มครองโลกก็คือคุ้มครองจิตเราดีๆนี่เอง มีหิริโอตตัปปะชื่อว่ามีเทวดาคุ้มครองกันเลยทีเดียว เพราะนี่ก็คือเทวดาธรรมอันเป็นผลิตผลของการปลูกฝังสติ จนเกิดสัมมาทิฏฐิในภาวนาแล้ว คุณธรรมทั้งหลายก็จะปรากฏออกมาทำหน้าที่โดยธรรมชาติ สภาพธรรมเช่นนี้แหละคือ “พระอุปคุต” ตัวจริง.

ไม่มีความคิดเห็น: