21 ธันวาคม 2555

โครงการปลูกป่าของวัด

ที่วัดนี้ปัจจุบันก็เป็นวัดเถื่อนนะ ตั้งอยู่ระหว่างเส้นแบ่งเขตอุทยานภูพานกับหมู่บ้านภูเพ็ก เป็นรูปเป็นนามเมื่อปี ๒๔๙๒ - ๒๔๙๓ เรียกว่าที่พักสงฆ์ แต่ชาวบ้านทั่วไปหากพบเห็นพื้นที่ใดเป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ เขาก็จะเข้าใจและเรียกขานกันว่า “วัด” ไปโดยปริยาย พื้นที่วัดเดิมก็มีอยู่ประมาณ ๔๕ ไร่ แต่ถูกแบ่งไปสร้างโรงเรียนประมาณ ๒๐ กว่าไร่ รอบๆ นอกนั้นก็เป็นที่ทำกิน ไร่สวน (บพท.๕) ของชาวบ้าน หลวงตามาอยู่เมื่อปลายปี ๒๕๓๘ ทำการปลูกป่าใช้เวลาอยู่ ๑๐ ปี เขียวไปหมด

ชาวบ้านเขาเห็นว่าเราพูดจริงทำจริงก็เลยถวายพื้นที่ข้างเคียงที่อยู่ใกล้ชิดติดกันให้วัดเราเข้าทำประโยชน์ปลูกป่ารักษาพื้นที่จากไร่นาสวน ก็เป็นสวนป่าสวนธรรมกันไปแล้ว ปัจจุบันมีพื้นที่รวมประมาณ ๖๐ ไร่ แม้แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังปลูก ยังเพาะพันธุ์กล้าพืชไว้อีกมาก อะไรที่มันขึ้นง่ายและโตเร็วก็จะปลูกสิ่งนั้น เพราะเห็นว่าพื้นที่ที่นี่หินมันเยอะ ปลูกไม้ยืนต้นไม่ได้ พื้นที่ภูเขาหินดานมันมาก เมื่อก่อนที่ลุ่มริมอ่างด้านหลังนี้ ชาวบ้านใช้ทำนาปลูกข้าว ที่สูงก็ตัดต้นไม้ขาย บ้างก็เผาถ่าน จึงได้ซื้อที่ดินแล้วยังได้ซื้อต้นไม้เป็นรายต้นอีกต่างหาก ต้นละ ๕๐๐ ก็มี ๘๐๐ ก็มี ๑,๐๐๐ ก็มี พวกต้นประดู่ ต้นมะขาม ต้นแดง ต้นหว้า ต้นเชือก ต้นก้านเหลือง ฯลฯ ที่อยู่หลังวัดที่เราไปใช้เป็นร่มเงาทำสมาธิเดินจงกรมกันนั่นแหละที่ซื้อ ก็เกือบซื้อที่ว่างเปล่าก็ว่าได้

เรื่องของไผ่ในวัด

ต้นไผ่ในวัดที่เห็นปลูกใหม่ทั้งหมดมีอยู่เยอะมากตั้ง ๒๖ พันธุ์ ได้แก่ ไผ่บ้าน ไผ่ตง ไผ่นา ไผ่หนาม ไผ่บง ไผ่เลี้ยง ไผ่รวก ไผ่ไร่ ไผ่หัวขวาน ไผ่แคน ไผ่กระแสง ไผ่ข้าวหลาม ไผ่ซาง ไผ่สร้างไพร ไผ่เพ็ก ไผ่ป่า ไผ่หวาน ไผ่ใบใหญ่ ไผ่เปาะ ไผ่ฟิลิปปินส์ ไผ่พลางหรือไผ่ปล้องยาว ไผ่แสนคำ ไผ่เหลือง ไผ่น้ำเต้า ไผ่ใบลาย ไผ่โจด และอีก ๒ สายพันธุ์ที่นำมาจากดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ จำชื่อไม่ได้ เป็นไผ่จีนที่เพาะให้กับหมีแพนด้า แต่อากาศที่นี่คงไม่เหมาะกับไผ่หิมะแบบนั้น

เมื่อพาพระภิกษุไปธุดงค์ที่ไหนก็เก็บเมล็ดพันธุ์มันมาเพาะมาปลูก ส่วนไม้อื่นก็ขอมาจากหน่วยราชการบ้าง ซื้อมาเองบ้าง โยมเอามาถวายบ้าง เป็นศูนย์ศึกษาพันธุ์ไผ่ได้ แม้จะทำในพื้นที่ของวัด แต่ก็ให้เป็นประโยชน์ส่วนรวม ต้องการเป็นดินแดนพุทธเกษตร คือผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่จะได้รับร่มเงาในการปรารภความเพียรทำกรรมฐาน เสริมสร้างอุปนิสัย ปลูกฝังสัมมาทิฐิสติปัญญาให้เข้าถึงความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นศูนย์พัฒนาคุณธรรมให้กับคนในสังคม

อายุขัยต้นไผ่โดยเฉลี่ยประมาณ ๔๐ ปีก็มี ๘๐ ปีก็มี แล้วก็จะผลิตดอกออกเมล็ด แล้วจะแห้งตายทั้งกอ แต่หากปีไหนฝนทิ้งช่วงผิดฤดูกาล อาการแห้งแล้งร้อนอบอ้าว ความชุ่มชื้นไม่พอเลี้ยงลำต้น มันก็จำเป็นต้องแตกดอกออกเมล็ดให้เป็นผู้สืบเผ่าพันธุ์ทดแทนต่อไปโดยไม่รอถึง ๘๐ ปี จึงเป็นได้มากหากโลกร้อนเช่นนั้น จะทำให้พืชหลายชนิดไม่เฉพาะไผ่สูญพันธุ์ไปด้วย

ไม้ที่ปลูกในวัดนี้จะมีไผ่เป็นหลัก เพราะโตเร็วให้ร่มเงาในเวลาอันสั้น รากก็รักษาหน้าดินได้ดี เวลาทำความสะอาดปัดกวาดดินก็คงตัวอยู่สม่ำเสมอ เหมาะสมกับการปลีกวิเวกฝึกจิตของผู้เข้าฝึกวิปัสสนา แต่ก็จะพยายามปลูกไม้อื่นเสริม เพียงแค่ไม่นิยมไม้ผล เพราะไม่เอื้อต่อการเป็นสถานธรรม

เมื่อก่อนแถบบริเวณสวนไผ่ข้างศาลาทั้งหมดนี้มีแต่หญ้าไมยราบ แมววิ่งตามยังไม่ได้เลย แต่ปัจจุบันนี้ พื้นที่ไหนก็ร่มรื่นไปหมด นี่แค่พระรูปเดียวพัฒนา แต่ก็ทำเพื่อชาวโลกทั้งมวลนะ สถานที่ในวัดนี้เป็นไม้โต ไม่เน้นไม้แคระ หรือ ไม้ประดับเพราะ หากมันไม่โต มันจะเกาะกินแรงเราต้องเสียเวลาไปดูแลรักษาความสวยงามอยู่เรื่อยๆ นี่ก็เรียกได้ว่า เราไม่มีปัญญา ไม้น้อยไม้ประดับเหมือนเสื้อผ้า ไม้ใหญ่เหมือนสังกะสีหลังคาบ้านเป็นที่หลบแดดฝน จะเน้นอันไหนต้องใช้ปัญญา

มีไม้ยืนต้นหรือไม้ป่าอยู่กลุ่มหนึ่งที่สังเกตได้ว่าเป็นไม้ไม่กลัวร่ม แม้จะมีไม้อื่นปกคลุมมันก็สามารถเจริญเติบโตแทรกซอนแทงยอดขึ้นไปได้ และทนความแห้งแล้งได้ดี ฤดูร้อนก็ไม่ผลัดใบคือปรับตัวเข้าได้กับธรรมชาติฤดูกาล ได้แก่ ไม้ตะเคียน เป็นไม้เนื้อแข็งไม่ผลัดใบ รูปทรงสูงเหมือนสน กิ่งก้านไม่รกไม่กาง อันนี้น่าส่งเสริมปลูกกันให้มากๆ อีกหน่อยนักเลงไม้จะชอบเล่นพันธุ์นี้ ดังเช่นต้นสัตบรรณ หรือลีลาวดี

นอกจากนี้ ก็มีไม้แดง ไม้มะค่า ที่ขึ้นได้ทุกที่แต่มันชอบเกิดมะเร็ง ตัวด้วงชอบเจาะลำต้นเขา ต้นยางนา ต้นลำไย ต้นมะแงวหรือลิ้นจี่อีสาน นี่ก็เป็นไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว (เช่นเดียวกับมะละกออีสาน และพื้นผักผลไม้อื่นๆ ที่ถูกมะละกอตัดต่อพันธุกรรมเข้ามาแทรกแซง) เป็นพืชในพื้นที่ที่ทนต่อความแห้งแล้งสูง และก็สามารถโตได้ในที่ร่ม เหมาะต่อการปลูกเสริมป่าให้หนาแน่นกว่าเดิมได้

ปลูกไม้กั้นดิน ปลูกแฝกดักยึดดิน กั้นตะกอน

ส่วนบริเวณไหนต้องการรักษาดินไม่ให้ถูกกัดเซาะ ก็ปลูกไผ่ น้ำเต้า คลุมไว้ เพาะก็ง่ายโตก็ไว หากเป็นดินใหม่ก็ใช้หญ้าแฝกปลูกยึดไว้ แต่ละฤดูก็ยังสามารถนำมามุงหลังคากุฏิกรรมฐานได้ด้วย ก็ได้มาจากศูนย์พัฒนาภูพานให้การสนับสนุนบ้าง ขุดตามหัวไร่ปลายวัด นำมาจัดระเบียบให้มันดูดีเป็นแถวเป็นแนวไว้เท่านั้น แต่อีกส่วนหนึ่งที่วัดนี้อยู่ริมอ่างเก็บน้ำ ฤดูฝนน้ำจะท่วม เวลาช่วงน้ำลดมันก็จะกวาดชะล้างเอาตะกอนใบไม้เศษหญ้าลงไปสู่ร่องน้ำลึกก้นกระทะของอ่างเก็บน้ำ ทางด้านนั้นเราก็ปลูกแฝกเป็นแนวกันตะกอนไว้เป็นสามชั้น คอยดักตะกอนที่ลอยมากับน้ำให้เป็นปุ๋ย ขยะ ให้กับต้นไม้ได้ สร้างอินทรีย์วัตถุให้กับพื้นดินแบบง่ายๆ อีกทั้งยังป้องกันการตื้นเขินของแหล่งน้ำได้ด้วย

ปลูกไม้ทนน้ำในพื้นที่น้ำท่วมถึง

โครงการที่เพิ่งทำใหม่ คือสวนมะกอกน้ำ นี่ก็เป็นไม้ยืนต้น ถิ่นนี้เรียกว่า “หมากแซว” บริเวณไหนน้ำท่วมถึงเราก็ใช้ต้นมะกอกน้ำปลูกเป็นสวนซะเลย อีกชนิดหนึ่งก็คือ ต้นมันปลา นี่ก็เป็นไม้ทนน้ำ ไม้ประจำเมืองนครพนม ปล่อยให้โตเต็มที่ไม่ต้องไปตกแต่งมัน พอฤดูน้ำลดไม้มันโตนักปฏิบัติธรรมก็สามารถเข้าไปอาศัยร่มเงาเจริญสมาธิภาวนาได้สบาย แล้วก็ยังแบ่งพื้นที่อีกส่วนหนึ่งไว้ทำแปลงเกษตรผักกางมุ้ง ผักปลอดสารเคมี ไว้สนับสนุนงานครัวของทางวัดได้อีก

นอกจากนี้ ทางวัดยังเพาะพันธุ์กล้าไผ่แจกจ่ายกลุ่มเกษตรพอเพียงที่มาเข้าร่วมฝึกอบรมปฏิบัติธรรม ได้นำไปปลูกในพื้นที่ของตนเองอีกด้วย หากเราทำมาหากินแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันกับธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะมีแต่ให้คุณกับเรา หากเรามุ่งเอาแต่ได้จนทำลายธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะเป็นพิษภัยกับเราอย่างที่ห็นเช่นในปัจจุบัน

ความพอดีของธรรมชาติสามารถเกิดเห็ด

ที่วัดนี้เราไม่เคยเผาเศษไม้ใบหญ้า จะช่วยกันเก็บกวาดเข้าไปหุ้มโคนต้นไม้เป็นแถวตามแนวที่ปลูกไว้ ให้เป็นปุ๋ยธรรมชาติ พอถึงฤดูเห็ดออกจะน่าดูชมเป็นอย่างยิ่ง เห็ดปลวก เห็ดโคน ผุดขึ้นเต็มข้างทางจงกรมหมดเลย ก็เพราะปลวกมันมากินใบไม้ เวลามันทำการย่อยสลายซากพืชมันจะปล่อยสารอะไรไม่รู้นะ เศษไม้ใบหญ้ามันทำให้เกิดกลายเป็นเชื้อเห็ดโคนได้เป็นอย่างดี หรือบางทีก็นำเอาเศษอาหารมาหมัก เติมกากน้ำตาลเป็นปุ๋ยอินทรีย์ นำไปรดโคนต้นไม้ ขยะใบไม้ใบหญ้าทั้งหลายเราก็เปิดวาล์วสปริงเกอร์รดน้ำ เป็นวิธีจะช่วยให้ย่อยสลายไวขึ้น มันเกิดการเน่าง่าย เป็นปุ๋ยต้นไม้ได้อย่างมีคุณภาพ

เศษพืชผักผลไม้ที่เหลือจากงานครัวในแต่ละคอร์สอบรม แม่ชีและแม่ครัวที่นี่เขาก็จะนำไปทำน้ำหมัก เติมส่วนผสมบางอย่าง แล้วนำมาเป็นนำยาล้างถ้วยชาม ล้างห้องน้ำ น้ำยาซักผ้า สบู่อาบน้ำ ยาสระผม ซึ่งก็จะทำให้ประหยัดค่าใช้ไปได้เยอะ อีกทั้งยังได้ใช้คุณค่าจากวัสดุเหลือใช้ ก่อนที่จะปล่อยทิ้งให้เน่าเสียจนเกิดก๊าซ สร้างมลพิษที่ไม่พึงประสงค์ดังเช่นปัญหาขยะเน่าเหม็น ขยะล้นเมือง ที่ปรากฏตามชุมชนเมืองใหญ่ๆ ที่ขาดการวางแผนระบบกำจัดขยะที่ดี

ที่นี่จะมีช่องลู่เดินจงกรมเป็นพันๆ ที่ไหนมีร่มตรงนั้นจะมีที่เดินจงกรม คนเดินมากทำให้ดินแน่น หน้าดินแข็งเป็นมันน้ำซึมผ่านยาก จึงต้องพึ่งพาเทคนิคน้ำหยดเข้ามาช่วยในบางพื้นที่

ทำขยะให้เป็นปุ๋ยใช้ประโยชน์

ส่วนขยะเปียก ที่วัดนี้บางครั้งจะทำหลุมใต้ต้นไม้ฝังไว้ให้เป็นปุ๋ยปรับเนื้อดิน พวกเศษขวดเศษกระดาษ พลาสติก ฯลฯ ก็จะมีคนมารับซื้อไปรีไซเคิล ที่นี่ก็มีการสร้างเตาเผาขยะอยู่บ้าง แต่จะใช้กับขยะประเภทถุงพลาสติกที่ติดมากับอาหารเป็นครั้งคราว

แต่ปัญหาที่ตามมาเมื่อป่ารก ยุงก็ชุม โดยเฉพาะในฤดูฝน ผู้มาปฏิบัติธรรมโอดครวญไปตามๆกัน แต่ดีระยะที่ผ่านมานั้นยังไม่มีเชื้อติดมากับยุงเลย

ที่วัดไม่ได้เลี้ยงสัตว์ที่ให้ความเพลิดเพลิน สวยงาม แต่จะมีก็นกต่างๆ หนู กระรอก กระแต ตะกวด เต่า ปลา งูกะปะ งูสิง งูสามเหลี่ยม งูจงอาง พวกนี้เป็นสัตว์ที่รอดตาย จากการไล่ล่าของชาวบ้าน ปัแต่หากเป็นสัตว์เล็กกว่านี้ ความไวความคล่องตัวไม่พอ หลบหลีกไม่ทัน เช่น กิ้งก่า จิ้งเหลน จะถูกแมวตะครุบกินหมด ไม่ได้เลี้ยงนะมันมาเอง ปัจจุบันจะมีมากที่พบบ่อยก็คืองูกะปะเท่านั้น

ปลูกไม้ให้เหมาะกับพื้นที่

พื้นที่ที่นี่มีหินทรายแผ่นใหญ่ๆหนาๆทั้งนั้น ก็ต้องเน้นปลูกอย่างอื่น พืชพวกนี้หาได้ในพื้นที่รากจะอยู่ข้างบนไม่ต้องมีรากแก้วก็ได้ เช่น นิโครธ โพธิ์ ไทร ไผ่ จันผา จะเน้นการปลูกตามริมถนน ซอกหิน ริมรั้ว ส่วนไม้ป่าธรรมชาตินั้นเกิดจากต้นตอดั้งเดิม ที่ชาวบ้านเขาโค่นไปก่อนหน้านี้ เพียงแค่เรารักษาไฟ ให้น้ำบ้างบางโอกาส มันก็โตเอง และพอทำเสร็จก็กลายเป็นป่าขึ้นมาอย่างที่เห็น ดูแล้วมันก็ไม่ยากอะไร พื้นที่ไหนเราจะปลูกสร้างที่พักก็ปล่อยว่างเอาไว้

ถ้าด้านที่อยู่ติดริมน้ำก็ปลูกพืชชายเลนน้ำจืด น้ำท่วมไม่ตาย เช่น ไผ่หนาม ไผ่นา ก้านเหลือง ไม้ท่มหรือตะกูน้ำ ต้นไคร้ใบขาว เหมืองฝายชาวบ้านอีสานจะชอบต้นนี้เพราะรากเป็นพังผืดแผ่รากฝอยให้น้ำได้ ยึดกับดินเข้าได้ดี ปลูกก็ง่าย แค่ตัดกิ่งเสียบเลย ยางนา มะกอกน้ำ ต้นมันปลา ยูคาลิป ฯลฯ แต่ในบ้านเมืองเรา เขาปลูกต้นไม้กันก็จริงแต่มันไม่โตเพราะขาดการติดตามผล บางหน่วยงานก็จะเห็นออกข่าวว่าเอาเมล็ดพันธุ์ขึ้นเครื่องบินนำไปโปรยในป่าในเขา แล้วก็ทำสถิติกันว่าปลูกได้เท่านั้นไร่เท่านี้งาน พูดถึงเรื่องความงอกคงพอมี แต่เจริญเติบโตนี้เปอร์เซ็นก็น้อย ไม่มีการดูแลรักษากันอย่างจริงจัง คงไม่ต้องพูดถึงการปลูกใหม่ เอาแค่ช่วยกันดูแลรักษาของเดิมไว้ไม่ให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจุดไฟเผาป่าหาอาหารหรือ ด้วยเหตุผลอื่นใดที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมลภาวะกระทบกับโลกใบนี้โดยแท้

ไม่มีความคิดเห็น: