12 ธันวาคม 2555

qa 1-10

๑๐.

ถาม

การดูจิต คือ การรู้ว่าเราคิดอะไรไปใช่ไหมครับ ผมมักจะเผลอคิดไปก่อนทุกที แล้วถึงสามารถตามรู้ทีหลังว่าเมื้อกี้คิดไปแล้ว อย่างนี้จะเรียกว่ากำลังดูจิตหรือเปล่าครับ

ตอบ

ให้รู้พร้อมกับการเกิดของความคิด รู้ก่อนที่จะคิด คิดขึ้นมาเมื่อไหร่ รู้ได้ เห็นได้ ดับได้ขณะนั้น อย่าเพิ่งให้มันปรุงแต่งเป็นอัตตา เรื่องยาวแล้วแก้ยาก.

๙.

ถาม

ขณะกำลังสร้างจังหวะ เราสามารถดูจิตไปพร้อมๆกันเลยได้ไหมครับ หมายถึงว่า ดูกายกับใจในเวลาเดียวกัน จะสามารถทำได้ไหมครับ

ตอบ

ได้ , เวลาสร้างจังหวะหรือเดินจงกรม คุณเห็นไหมว่าตัวเองง่วง คิด โกรธ เบื่อ ฟุ้งซ่าน ถ้าเห็นแสดงว่าคุณดูจิตเป็น ดูจิตได้ ดูธรรมารมณ์ได้ เพราะนี่คืออาการของจิต อาการของธรรมารมณ์ , ในขณะเดียวกันคุณก็รู้ว่าตัวกำลังเดินหรือกำลังยกมือ.

๘.

ถาม

โยมปฏิบัติธรรมได้ไม่นานค่ะประมาณแบบจริงๆจัง และรู้ว่าจริตตัวเองถูกกับการปฏิบัติแบบไหนประมาณเดือนธันวาคมปี49 ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดแสนสาหัส จะว่าไปแล้วโยมเพิ่งจะตื่นจากหลับ แต่ยิ่งโยมปฏิบัติไปมากเท่าไร โยมยิ่งพูดธรรมไม่ออกไม่ว่าจะพูดหรือเล่าเรื่องที่ตัวเองคิดว่าใช่นี้แหละคือธรรม(ตามปัญญาที่มี และคิดว่าตัวเองเข้าใจ) หรือไม่ว่าญาติๆ จะแซวว่าโยมปฏิบัติแล้วเห็นนั่นเห็นนี่หรือเปล่า โดยปกติโยมเป็นคนขี้โวยวาย แต่โยมก็ไม่สามารอธิบายให้ญาติๆ โยมฟังได้ว่าธรรมะไม่ได้มีแค่การทำสมาธิแล้วเห็นโน้นเห็นนี้ แต่ธรรมะมีอีกมากมายที่น่าค้นหา โยมเหมือนอะไรมาจุกที่คอพูดไม่ออกซึ่งปกติถ้ามีคนมาพูดหรือแซวแล้ว ถ้าไม่ใช่ โยมจะแก้ตัวทันที ถ้าหลวงตาคิดว่าอะไรพอที่จะแนะนำโยมได้ ขอความกรุณาตอบและแนะนำด้วยนะคะ

ตอบ

ปฏิบัติเพื่อแก้ไขทุกข์ให้กับตัวเอง ไม่ใช่แสวงหาปัญญาไปแก้ต้วแก้ตนกับคนอื่น ให้เรารู้เรา อย่าไปอยากให้คนอื่นเขามารู้เราเลย , กลิ่นศีลกลิ่นธรรมถึงเวลาที่มันปริบาน เดี๋ยวฟุ้งกระจายได้ทั้งตามลมและทวนลม โดยเฉพาะในหมู่ปราชญ์ชน, อยู่กับปัจจุบันให้ดีเถิด เดี๋ยวเกิดธรรมะเขาจัดสรรเอง.

๗.

ถาม

ผมเคยมีความคิดผิดพลาดในอดีต แล้วรู้สึกติดอารมณ์กับความผิดของตัวเอง จิตมักจะชอบแว๊บไปคิดถึงความคิดไม่ดีในอดีตของตัวเอง ผมได้แต่ตามรู้ว่ามันกำลังคิดอีกแล้ว แล้วก็ปล่อย แต่ในใจก็ยังรู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับความคิดอกุศลของตัวเอง คือมีอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ อยากจะขอคำแนะนำจากหลวงตาครับว่าจะล้างใจของตัวเองให้สะอาด แล้วไม่มีความคิดสกปรกอีกได้อย่างไรครับ

ตอบ

อดีต อนาคต ก็เป็นอนัตตา อย่าเอามาใส่ใจให้หนัก แต่หากพลั้งเผลอมาแล้วก็ให้พยายามลืม โดยการอยู่กับชีวิตจริงที่เป็นปัจจุบันขณะ พัฒนาสติเจริญเติบโตจนเกิดนิพพิทา วิราคะ เกิดญาณทัศนะไล่ความมืดโมหะธรรมชนิดนั้นๆ ออกไปจากจิต จึงจะล้างมลทินที่เป็นอนุสัยเกาะเกี่ยวใจนั้นออกไปได้.

๖.

ถาม

ดิฉันได้ปฏิบัติธรรมในเวลาเช้า ดูอาการของร่ายกาย โดยการเดินจงกรม หลังจากนั้นจะนั่งกรรมฐาน ทำไม่ต่อเนื่อง บางวันก็งดเพราะร่างกายไม่สบาย ดิฉันกำหนดพุทโธขณะนั่งสมาธิ

ดิฉันทำงานอยู่ อยากทราบว่า หลังจากปฏิบัติธรรมแล้ว มาทำงาน ทำไมถึงมีอาการเผลอบ่อย ๆ ทำงานผิดพลาดบ้าง แต่เวลาไม่ได้ปฏิบัติ กลับทำงานได้มีสมาธิดี อยากทราบว่า ดิฉันปฏิบัติผิดตรงไหน จะแก้ไขอย่างไร

ตอบ

ต้องทบทวนวิธีการปฏิบัติว่าถูกตรงจริงไหม มีสติระลึกรู้จริงรึเปล่า , อย่าพึงพอใจกับความจำ อย่าเสียใจกับความหลงลืมเพราะสัญญาเป็นอนิจจัง.

๕.

ถาม

ผมทำงานทุกวันไม่มีเวลาไปปฏิบัติตามรูปแบบ อยากถามเรื่อง ดูแล้วเห็น เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็น ได้อ่านจากหนังสือของหลวงพ่อคำเขียนครับ เห็นอารมณ์ต่างๆที่อยู่ในกายในใจไม่เข้าไปในอารมณ์อย่างนี้ถูกต้องไหมครับ ไม่บอกว่ารูป ว่านาม แต่เห็นอารมณ์แล้วไม่เป็นไปกับอารมณ์ให้เห็นเฉยๆใช่ไหม

ตอบ

ถูกแล้ว , ไม่ต้องไปติดในบัญญัติศัพท์แสงอะไรให้ยุ่ง ให้อยู่กับความจริงของปรมัตถ์ รู้อาการเฉพาะหน้า ระลึกรู้ทุกข์ที่กำลังเกิดและกำลังเห็นอยู่ในขณะนั้น ๆ เท่านั้นก็พอ.

๔.

ถาม

ไม่ทราบว่าการปล่อยวาง"ความรู้สึกตัว"(ซึ่งเป็นการปฏิบัติในช่วงท้ายๆของอารมณ์ปรมัตถ์)ตามแนวทางการปฏิบัติเจริญสติแบบเคลื่อนไหวทำได้ยากหรือง่ายอย่างไรครับ มูลเหตุที่กระผมถามคำถามนี้ขึ้นมาเพราะว่าการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนั้น นิมิตในการภาวนาคือการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น เคลื่อนไหวมือหรือเดินจงกรม ซึ่งอาศัยเจตนาคิดสร้างขึ้นก่อนแล้วแปรไปสู่การเคลื่อนไหวของร่างกาย จริงอยู่การปฏิบัติในลักษณะนี้จิตจะตั้งมั่นได้ไวและการภาวนาก็ก้าวหน้าได้ไวในช่วงต้นๆ แต่เป็นไปได้ไหมครับว่าการภาวนาในช่วงท้ายๆของการปฏิบัติอาจะช้าก็เป็นได้ เพราะเหตุดังได้กล่าวแต่ต้นว่าความเข้มของเจตนาที่สร้างนิมิตในการภาวนาตามแนวทางนี้ขึ้นมานั้น "มากกว่า"แนวทางอื่นซึ่งอาศัยนิมิตการเคลื่อนไหวของส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่เป็นธรรมชาติเองอยู่แล้ว เช่น ลมหายใจเข้าออก, การพอง-ยุบของท้องฯลฯ เป็นต้น

ตอบ

ไปเรียนจำมาจากไหน ทำไมถามเลอะเทอะขนาดนั้น การปฏิบัติแบบไหน ๆ ตั้งแต่เริ่มต้น ท่ามกลาง ที่สุด อย่างไร เขาก็ไม่ได้ยึด “ความรู้สึกตัว” จนต้องมาปล่อยวางตอนท้ายๆ ของอารมณ์ปรมัตถ์อย่างที่คุณคิดดอก ยึดความรู้สึกตัวจะปวดหัวตั้งแต่เริ่มต้นโน่นเลยแหละ อุปาทานกินซะไม่มี,ความรู้สึกตัวแท้ ๆ รู้สึกเฉย ๆนี้ ผู้ปฏิบัติต้องสัมผัสปัจจัตตังภาวะจริง ๆ , ปล่อยวางสตินั้นมันไม่ยากหรอก มันยากก็ตรงที่จะทำให้มีสติสมบูรณ์ตลอดเวลาต่างหากเล่า

นิมิต แปลว่า เครื่องหมายหรือเครื่องมือของการระลึกรู้ หรือที่ตั้งของสติ, ที่ให้สติเกาะขณะทำกรรมฐาน...สติระลึกได้ใน 2 ฐานคือกายกับจิตเท่านั้น จึงจะเป็นปัจจัยเรืองปัญญาวิปัสสนา, อาการ 32 ของกาย ใครระลึกส่วนไหนได้ถนัดอะไรเป็นนิมิตก็ทำเถอะ ไม่ผิดธรรมไม่ผิดตำรา แต่อย่าให้ติดอยู่เพียงแค่นั้น ดูกายให้เห็นจิต ดูความคิดให้เห็นธรรมารมณ์ คือมองให้ทะลุ ทำนองการดูถนนเห็นรถ ดูน้ำเห็นปลา ดูฟ้าเห็นดาวเดือน ยังไงยังงั้น ให้ระลึกถึงสมุทัยของทุกข์คืออวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่ซ่อนอยู่ในจิต ให้เกิดปัญญาเห็นธรรมชาติเดิมแท้ของจิตที่ถูกฉีกสมาธิออกไปแล้วว่าหน้าตาเป็นเช่นไร สิ่งแปลกปลอมปรุงแต่งจิตนั่นแหละที่ไม่ใช่ธรรมชาติที่ควรรู้อย่างยิ่ง, การจะรู้ว่าอะไรเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดจากความรู้สึกที่ตาเห็น แต่เป็นที่วิปัสสนาปัญญาเกิดต่างหาก, ต้องเข้าใจจริง ๆว่ากายหรือจิตเป็นเพียงนิมิตของการระลึกรู้เท่านั้น รูปแบบกรรมฐานก็เหมือนแคปซูลยานั่นแหละ จะมีสีอะไร หลอดบรรจุหลอดเล็กใหญ่ไซส์หนาบางช่างเถอะ ทุกรูปแบบได้ผ่านแล็ปทดลองมาแล้วทั้งนั้น เขาห่อตัวยาอยู่ข้างในให้สะดวกกิน, ไฟสว่างจากเทียนหรือจากฟืนจากปฏิกิริยาฟิวชั่นหรือฟิชชั่น มันก็คือไฟอันเดียวกันนั่นแหละ สติจาการเคลื่อนไหวหรือจากการรู้ลมหายใจก็สติความระลึกรู้อันเดียวกันนั่นแหละ.

๓.

ถาม

กระผมปฏิบัติโดยวิธีเจริญสติปัฏฐานโดยเฉพาะตามรู้การเคลื่อนไหวของกายในอิริยาบถหลักและอิริยาบถย่อย มีครั้งหนึ่งสติสามารถระลึกรู้ความคิดเร็วมาก เห็นการเกิดขึ้นของความคิดก่อนที่จะเป็นคำพูดแล้วก็ดับไป เกิด-ดับ เกิดแบบนี้อยู่ประมาณวัน 2 วันแต่ช่วงหลังมาทำไมไม่มีสภาวะลักษณะนี้ปรากฏเลย สภาวะนี้จะเกิดขึ้นอีกหรือเปล่าครับ ถ้าเกิดทำไมไม่เกิดอีกครับ

ตอบ

เกิดก็ได้ ไม่เกิดก็ได้ ถ้าทำเหตุปัจจัยได้อย่างเดิม มันก็เกิดได้ ถ้าเหตุปัจจัยไม่เหมือนเดิม มันก็เป็นอย่างอื่น

ถาม

ถ้าพระอาจารย์มีอะไรที่จะช่วยแนะนำเพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป กรุณาเมตตาช่วยแนะนำด้วยครับ

ตอบ

กำหนดสติ ระลึกรู้ตัวไปเรื่อยๆ ดูกายเคลื่อนไหว ดูใจนึกคิด อย่าให้อารมณ์มาเกาะเกี่ยวใจ พยายามรักษาใจให้บริสุทธิ์ ขยายช่องสุญญตาในพื้นที่จิตให้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ.

๒.

ถาม

ความทุกข์ เกิดขึ้นได้กับใจได้อย่างไร

ตอบ

ทุกข์มีสองแบบ คือ ทุกข์ข้างนอกกับทุกข์ข้างใน หรือ ทุกข์กายกับทุกข์ใจ หรือ ทุกข์ที่เป็นไปโดยธรรมชาติ (อันนี้ พระท่านไม่เรียกว่าทุกข์หรอก เพราะมันเป็นธรรมชาติ) กับทุกข์ที่ปรุงแต่ง อันนี้เป็นทุกข์ ที่เรียกว่าทุกข์ เพราะมันไม่ใช่ธรรมชาติ มันเกิดมาจากอวิชชาหรือความไม่รู้แจ้งรู้จริง ความไม่รู้นี้แหละที่เป็นความหลงเข้าไปปรุงเติม เสริมแต่ง ก็เลยยิ่งกลายเป็นความทุกข์แตกกิ่งก้านสาขาออกไป มนุษย์เราก็หลงวิ่งตามแก้ไขอยู่อย่างนั้นแล้วๆเล่าๆไม่มีวันจบสิ้น

ทุกข์กาย เป็นความปกติของอายุ วรรณะ สุขะ พละ ตามกฎของไตรลักษณ์ เสื่อมไปตามสภาพ เหตุ ปัจจัย คือ อะไรก็ตามที่เป็นสังขาร เกิดมาจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งนั้นก็ต้องตกอยู่ภายใต้กฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาหรืออุปาทะ ฐิติ ภังคะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดดับช้าเร็ว แล้วแต่เหตุปัจจัย ..... แต่มนุษย์ผุ้ไม่รู้แจ้งสัจจธรรม มักจะหลงธรรมชาติเหล่านี้ว่าเป็นตัวตน เป็นของเรา เป็นเรา เมื่อสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลง ก็จึงเป็นทุกข์ไปด้วย สังขารเสื่อม จิตใจก็เสื่อมด้วย ทั้งที่ความจริงมันเป็นคนละอัน ละสิ่งกัน เพราะฉะนั้น อริยบุคคลผู้รู้เท่าทันความจริงในสังขาร จึงไม่ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ เพราะมันเป็นธรรมชาติ เป็นเช่นนั้นของมันเอง

ทุกข์ใจ ความจริงแล้ว ใจก็ไม่ใช่จะเป็นทุกข์อะไร เพราะใจเป็นสภาพธรรมชาติรับจำ คิดปรุง รู้ผัสสะอารมณ์เท่านั้นเอง หากไม่มีอุปาทานเข้าไปยึด มันก็ไม่ทุกข์ แต่เมื่อใดใจไม่มีสติปัญญารู้เห็นเวทนาตามความเป็นจริง หลงปรุง หลงยึดในอาการ จิตไม่มีสมาธิเห็นสักแต่ว่าเป็นอาการ ก็ย่อมจะเกิดความรัก ความหลง ความพอใจ ไม่พอใจ หลงยึดมั่นถือมั่น อยากรู้อยากเห็น อยากเป็นอยากมี อยากได้ อยากทำลาย ฯลฯ ถ้าทำได้ก็ดีใจ พอใจ หากทำไม่ได้ก็เสียใจ ทุกข์ใจ นี่แหละคือความทุกข์ตัวจริง สำรวจทุกข์จริง ทุกข์ปลอมภายในใจกันเองเถอะ....

ถาม

เมื่อใจมีทุกข์ จะทำอย่างไร

ตอบ

วาง ถ้าวางไม่ได้ก็ต้องเจริญสติ แต่ถ้ายังไม่รู้ก็ต้องแสวงหากัลยาณมิตร หาเพื่อนผู้แวดล้อม สหายธรรม แล้วก็สถานที่เพื่อสร้างบรรยากาศ อุณหภูมิทางจิตใจ เหมาะแก่การบ่มเพาะโพธิจิตให้ง่าย ใช้เวลาสั้นจะดีกว่า.

ถาม

เมื่อใจไม่มีทุกข์แล้วเป็นอย่างไร

ตอบ

เหมือนกับคนเป็นโรคมาเนิ่นนาน แล้วหายจากโรค ยถาฉันใด เอวังก็ฉันนั้น คุณเคยป่วยไหม เวลาหายแล้วเป็นยังไง สุขหรือสบาย มันยากที่จะอธิบายใช่ไหม แต่ก็อยู่ภายในสองคำนี่แหละ หรือทั้งสุขทั้งสบาย เผลอๆ เฉยๆเสียด้วยซ้ำ

ถาม

จิตหลุดพ้นเป็นอย่างไร

ตอบ

คุณเคยเลี้ยงนกไหม นกที่ไม่ประสงค์จะอยู่ในกรง มันแสวงหาทางออกอยู่ตลอดเวลา แล้วจู่ๆวันหนึ่ง มันก็สามารถหลุดรอดออกไปสู่บรรยากาศภายนอกได้ คุณลองเดาเอาเองเถอะว่าความรู้สึกของนกนั้นจะเป็นอย่างไร

เราก็เช่นเดียวกัน เกิดติดอยู่ในกรงของตัณหา ในกาม ในความคิด ในความอยาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาแล้ว จิตจะติดอยู่ในกรอบรั้วของอารมณ์เหล่านี้ ไม่มีเลยสักวันที่จิตจะอยู่นอกกรอบหรือมีแนวความคิดความห็นที่อยู่เหนือกรอบอารมณ์สมมติทั้งหลาย.....

ถ้าหากว่า จิตหลุดพ้นกรอบสมมติออกไปได้แล้วจะเป็นอย่างไร ความหลุดพ้นออกจากแรงโน้มถ่วงหรือแรงดึงดูดของตัณหาได้ นั่นแหละคือความหลุดพ้นเป็นอิสรภาพทางใจอย่างแท้จริงนั้นเอง.

๑.

ถาม

ช่วงนี้พอได้อารมณ์ "รูปทำ-นามทำ" แล้วมันไม่ไปต่อ แต่ถ้าไปก็เหมือนจะข้ามไปรู้ "นามรูป" หรือไปรู้ "โทสะ โมหะ โลภะ" เลย ไม่ทราบท่านพอมีคำแนะนำอะไรให้ไหมครับ

ตอบ

รู้อะไรก็ได้..... ไม่ว่าจะในรูปนามหรือในนามรูป ขอให้เป็นความรู้ที่อยู่ในกรอบของรู้กายและจิต หรือกายเคลื่อนไหว ใจนึกคิด

รู้ทุกข์ รู้เหตุ รู้ความไม่ทุกข์ รุ้วิธีการสลัด ละ วาง ความทุกข์ออกไปจากจิตให้คงอยู่ในสภาวะปกติได้ นั่นแหละคือ ความรู้ที่ถูกต้อง(สัมมาญาณ)

รู้รูปทำ นามทำ ก็คือรู้อาการของรูปของนามนั้นเอง แต่อย่าเผลอไปปรุงแต่งมันเข้า ให้รู้เฉยๆ รู้แล้ววาง รู้แล้ววาง

รู้อาการเกิดแล้วก็ให้รู้อาการดับ รู้ความเป็นอนิจจัง รู้ว่ามันไม่เที่ยงยังไง เกิดแล้วดับได้เลยหรือไม่ เร็วหรือช้า ถ้าช้า แสดงว่าสติปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิยังไม่แจ่มแจ้งชัดเจน ต้องขยันฝึกทักษะในการรู้แล้ววางให้มากๆ ให้เร็วขึ้น ไม่นาน สภาวะอนัตตาจะปรากฏออกมาให้เห็น ไม่ต้องไปค้นหาอะไร ให้รู้อยุ่กับฐานเดิมนั่นแหละ..... นั่งดูอยู่ที่ถนน เดี๋ยวรถยนต์ก็วิ่งมาให้เห็นเอง

ไม่มีความคิดเห็น: