13 ธันวาคม 2555

qa 151-160

๑๖๐.

ถาม

หลวงตาให้ฝึกโดยไม่ต้องฟังธรรมไปด้วยจะดีกว่าใช่ไหมคะ เพราะปกติจะเปิดซีดีฟังไปด้วยเวลาที่นั่งเคลื่อนไหวและเดินจงกรมค่ะ เพราะรู้สึกว่าทำให้เพลิน เจริญสติได้นานมากขึ้นไม่ทำให้เบื่อกับการปฏิบัติซะก่อน

ตอบ

สติที่บริสุทธิ์ จะนำไปสู่การเห็นธรรมที่บริสุทธิ์ สติ สมาธิ ปัญญาที่พัฒนาเกิดจากการเห็นทุกข์อย่างละเอียดตรงๆ จะนำไปสู่ความห็นมรรคญาณ ผลญาณได้อย่างสมบูรณ์ และในเวลาอันลัดสั้นด้วย

เหมือนในการขับรถ หากเราฝึกขับเป็นได้เองโดยไม่ต้องให้ใครประคอง เราจะเกิดทักษะต่อในทุกๆ สถานการณ์ ความภูมิใจ สุขใจ จับรถเมื่อไหร่ไปได้เมื่อนั้น

เราฝึกจิต แต่ติดอยู่กับเทปเป็นพี่เลี้ยงคอยประคองอารมณ์อยู่ตลอด ไม่กล้านำจิตนี้เข้าสู่สนามแห่งความเป็นจริง สนุกอยู่กับการฟังคนอื่นอ่านแผนที่หรือฉลากยาให้ฟัง เราภูมิใจหรือ เมื่อไม่ใช่ผลงานที่แท้จริงของเรา จิตจึงไม่เกิดปีติปราโมทย์สักที การเดินทางหรือการกินยาเอง ความจริงอาจยากกว่าที่ได้ฟังมาก็ได้ แต่หากได้รู้แจ้งเอง (ปัจจัตตัง) เห็นแจ้งเอง (สันทิฐิโก) จึงจะเป็นโลกุตตระธรรมแท้

ทำไปด้วยฟังไปด้วยมันก็มีอรรถรสอยู่ดอกแต่จิตจะติดการหาปัญญาเข้าใจในความหมาย กลบเกลื่อนไปเรื่อยๆ เพราะเป็นสมาธิเคลือบน้ำตาล มันมีรสหวานเราจึงทานไปเรื่อยๆ ........อย่าฟักไข่ในตู้เย็นกันเลย

ลองปิดเสียงดูซิ แล้วสู้กับนิวรณ์ธรรมตรงๆ จะรู้ทันทีว่าจิตแบบนั้นอ่อนแอมาก หากเป็นการขับขี่รถ ก็ล้มคว่ำไม่เป็นขบวนเลยแหละ.... ในวงการผู้ปฏิบัติจะเป็นเช่นนี้เยอะมาก จึงอยากแนะนำให้สู้กันตรงๆ ซึ่งๆหน้า แบบใครดีใครอยู่ รับรองชัยชนะต้องเป็นของคุณ ชนะกิเลสได้มากเท่าใดสมาธิจิตเราจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้เท่านั้น

ถาม

หนูอยู่ต่างประเทศค่ะ อยากไปภาวนาที่วัดของหลวงตา พอดีเพื่อนหนูเพิ่งแนะนำให้หนูทราบ เสียดายที่เวลาที่อยู่เมืองไทยไม่มีโอกาสและบุญที่ได้รู้จักหลวงตา หนูเคยไปภาวนาที่วัดสนามใน ตอนนั้นก็แสวงหาการภาวนาแบบอื่นไป ไม่ได้ทำต่อเนื่องค่ะ เพิ่งจะกลับมาเริ่มทำใหม่อีกครั้งนึง เพราะไม่ถูกจริตกับการนั่งสมาธิแบบหลับตาค่ะ เพราะจะหลับทุกครั้งเลย หนูอยากทราบว่า หนูจะทราบได้อย่างไรคะ ว่าหนูภาวนาเป็นแล้ว ทำถูกแล้ว หรือรู้สึกตัวเป็นแล้ว

ตอบ

รู้ได้เพราะเห็นผลเกิดขึ้นกับชีวิตตนเอง เช่น .สติ.รู้ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หลงไปปรุงแต่ง จิตปลอดโปร่ง สงบ ฯลฯ สรุปคือทุกข์น้อยลง รู้ว่าอะไรคือทุกข์ รู้ว่าภาวะที่ทุกข์ดับเป็นเช่นไร , มีความสุขกับการฝึกจิต หรือการเดินทางสายนี้.

ถาม

หนูมีความเคารพในพระรัตนตรัยมากค่ะ แต่ทำไมถึงเกิดอกุศลต่อพระรัตนตรัยโดยไม่ตั้งใจขึ้น ยิ่งกลัว ยิ่งฝืนก็ยิ่งเป็นค่ะ หลวงตาพอจะมีคำแนะนำแก่หนูบ้างไหมคะ

ตอบ

มองพระรัตนตรัยด้วยปัญญา มองให้ทะลุสมมุติ อย่าติดอยู่แค่เพียงเปลือกนอก รัตนตรัยในสัญลักษณ์เครื่องหมายให้เตือนสติ กับรัตนตรัยแบบสภาวธรรมที่ปรากฏในจิต ที่พระพุทธองค์ชี้ มันคนละอันกัน

- บุญกรรมเราทำเองทั้งนั้นนะโยม

- จำเริญ ๆๆๆ.

๑๕๙.

ถาม

ผมฝึกมา 2-3 ปีแล้วมีความก้าวหน้าดี รู้สึกตัวตลอดที่คิดได้ เผลอบ้างแต่ก็กลับมารู้ตัวเร็ว ตามดู ตามรู้ตลอด อยู่กับปัจจุบัน รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กราบเรียนถามหลวงตาว่าฝึกอย่างไรทำให้รู้เท่าทันกับความกลัว บางครั้งกระผมคิดเองว่าเรากลัวอะไรเราต้องไปหาสิ่งนั้น เช่นว่ากระผมกลัวที่จะภาวนาที่ป่าช้า ไม่กล้าที่จะไป กระผมควรที่จะสลัดความกลัวนี้แล้วเดินไปหามัน ความกลัวของกระผมคือกลัวล้มเหลว กลัวลูกทำในสิ่งที่ไม่ดี กลัวไม่มีเงินจ่ายหนี้ กลัวสังคมตราหน้าว่าไอ้ขี้โกง ความกลัวทั้งหลายนี้ไม่ใช่กับตัวเองแต่กลัวเขาว่ากับครอบครัวตัวเอง เพราะเราเป็นต้นเหตุ ขอเมตตาหลวงตาโปรดชี้ทางสว่างให้กับลูกศิษย์ผู้โง่เขลาเถอะ สาธุ สาธุ สาธุ

ตอบ

ดูไตรลักษณ์ให้สัมผัสแนบแน่นอยู่กับสมมุติ ปรารภความเพียรให้มาก เพียรเพ่งเผากิเลสทั้งหลายจนกลายเป็นสมมุติ, เฝ้าดูศึกษาหาเหตุของความกลัว ไม่ว่าสาเหตุปัจจัยภายนอกหรือภายใน แก้ไขตามสมมุติฐานของโรคที่เป็น.

๑๕๘.

ถาม

ในการทำงานที่ปฏิบัติอยู่มีการแนะนำว่าจะต้องฝึกการสร้างจินตนาการแห่งการทำงาน,จินตาการถึงความสำเร็จแม้กระทั่งมีหลักสูตรจินตนาการมากมายให้เห็นภาพชัดเจนในอนาคตก่อนลงมือปฏิบัติจริง ในตอนนี้ข้าพเจ้ากำลังเริ่มฝึกสติให้อยู่กับปัจจุบันทำให้ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่าขัดกัน จึงเรียนถามหลวงตาว่าข้าพเจ้ามีหนทางที่จะปฏิบัติควบคู่กันไปได้หรือไม่ จึงเรียนถามเพื่อเป็นประโยชน์ในการนำไปปฏิบัติ ด้วยความเคารพอย่างสูง

ตอบ

จิตหลงสมมุติ ติดอยู่ในบ่วงกรรม หลงความคิดติดในมายาขันธ์,คนที่ยังไม่เกิดปัญญาเห็นทุกข์โทษของความคิดปรุงแต่งก็เป็นเช่นนี้กันทั้งนั้นแหละ ยังไม่เกิดจักษุเห็นเส้นทางชีวิต (มรรค) รู้ตื่นเบิกบาน เส้นทางที่จิตมันโล่งโปร่งไร้อารมณ์แปดเปื้อนรกใจ การปฏิบัติจิตทุกคนเขาก็ฝึกควบคู่กันไปทั้งนั้นแหละ แค่เอาสติมาเฝ้าดูจิตเวลามันคิด เราก็รู้ๆๆๆๆๆ เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ไม่หวัง ไม่มี ไม่เอาไม่เป็น, รู้เห็นแค่นั้นพอ, การคิดใครๆ ก็คิดเป็น ไม่เห็นต้องฝึก แต่การออกจากความคิด นี่สิต้องฝึก ถ้าไม่เช่นนี้จะหลงทางจมอยู่แต่ในความคิด แล้วไฟราคะ โทสะ โมหะ โลภะ ที่อยู่ในความคิด ก็จะแผดเผาเราให้เร่าร้อนยิ่งกว่าตกนรกตอนตายเสียอีก, ตื่นนอนต้องล้างหน้า เข้านอนต้องล้างตัว,กินอาหารต้องล้างฟัน มนุษย์ที่ใช้ความคิดต้องรู้จักล้างจิต ไม่งั้นจะสะสมเป็นอารมณ์ค้าง อารมณ์เน่าบูดเป็นอนุสัยหินปูนเกาะยึดใจไงเธอ.

๑๕๗.

ถาม

ดิฉันก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้ฝึกการเจริญสติ (ตามแนวหลวงพ่อเทียน) การปฏิบัติ 7 วันเป็นห่วงว่าจะลางานไม่ได้ เพราะว่าทำงานประจำค่ะ ตอนนี้ก็พยายามฝึกเจริญสติ ในชีวิตประจำวัน และพยายามทำอย่างต่อเนื่องด้วยความเพียรเพราะระหว่างวันในการทำงานก็พยายามทำให้รู้สึกตัว ว่าขณะนี้ทำอะไรอยู่ และทุกวันอาทิตย์แรกของเดือน จะไปเจริญสติที่บ้านอารีย์ ซอยอารีย์ ขอคำชี้แนะ ข้อแนะนำที่จะต้องเพิ่มเติม

ตอบ

ฝึกทักษะทางกายให้ได้ปัจจัย4 ชื่อว่าทำงานหรือปฏิบัติงาน, ฝึกใจให้ลาโลภ โกรธ หลง ชื่อว่าปฏิบัติธรรม, ธรรมกับกรรมฐาน อยู่ที่การมองข้างนอกกับข้างในเท่านั้นเอง, ความสุขข้างนอกเป็นผลของมายาขันธ์ ความสงบภายในนั้นคือสันติภาพที่แท้จริง, ทำดีแล้วทำต่อไปเถิด.

๑๕๖.

ถาม

บางทีเวลาทำงานจะต้องเล่นบทโหดบ้างไม่งั้นงานจะไม่เสร็จค่ะเวลาโหดกะคนอื่น จะเห็นจิตเค้ามีโทสะแต่จริงๆแล้วก็ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากกราบเรียบถามหลวงตาค่ะว่า เวลาทำงานเราใช้คำพูดกดดันคนอื่น พูดแบบมีโทสะนิดๆ เพื่อให้งานเสร็จลุล่วงด้วยดี จะผิดไหมคะ

ตอบ

ผิดธรรมไม่ผิดโลก,ผิดโลกไม่ผิดธรรม, ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา.

๑๕๕.

ถาม

จะพยายามรู้สึกตัวเยอะๆค่ะ สังขารเค้าปรุงแต่งความน่ากลัว ท่านแมลงสาบก็เห็นอยู่เนืองๆ แต่พอเจอตัวจริงเสียงจริง สติก็เผ่นทุกที จะพยายามรู้สึกตัวอย่างที่หลวงตาแนะนำค่ะ หลังจากกลับจากการปฏิบัติที่อาศรมวงศ์สนิท จิตเค้ามีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นจริงๆค่ะ บางทีการภาวนาก็ดูจืดๆ ดูสภาวะเค้าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปไม่มีอะไร รู้ตัวทั่วพร้อมบ่อยขึ้น จะหาโอกาสไปที่วัดแน่นอน (สงสัยจะปลายปีนี้ค่ะ อยากไปเดี๋ยวนี้จัง)

ตอบ

ความเข้าใจชีวิตไม่ได้หาพบที่นอกตัว สันทิฎฐิโก เห็นได้ในตัว , ปลุกจิตบ่อยๆ อีกหน่อยจิตดวงน้อยๆ คงตื่นจากฝันอันได้แบบถาวรนะจ๊ะ.

๑๕๔.

ถาม

จิตกับสติอันไหนเกิดก่อน

ตอบ

ก็จิตไงเล่า เพราะเกิดมาลืมตาดูโลก รับรู้ได้ก็แสดงว่าเธอมีจิตแล้ว ส่วนการรู้กาย รู้จิต รู้ความคิด รู้อารมณ์ นี่เพิ่งเกิดเมื่อเธอมาฝึกระลึกรู้นี่แหละ แต่สติแบบวิปัสสนารู้ตื่นเบิกบานจากกิเลส บางคนแม้ฝึกก็อาจยังไม่รู้ไม่เห็น ไม่เกิดไม่เป็นด้วยซ้ำ ก็ที่พระท่านเรียกชีวิตเป็นหมันไงล่ะ.

๑๕๓.

ถาม

ขอฝากตัวเป็นศิษย์หลวงตาด้วยคนอยู่กาญจนบุรี ไม่มีครูบาอาจารย์แบบเคลื่อนไหวรู้แนวนี้จากหลวงพ่อปราโมทย์ พูดถึงหลวงพ่อเทียน เลยค้นพบหลวงตา ตอนนี้ก่อนนอน ตื่นนอนก็ยกมือสร้างจังหวะ ยังไม่เห็นผลอะไรมากแต่คิดว่าจะทำไปตลอด คิดว่าคงมาไม่ผิดทาง

ตอบ

ให้พยายามฝึกรู้อยู่กับปัจจุบัน ละสังขารปล่อยวางอดีตอนาคต ปล่อยได้วางเป็นเห็นธรรม ปล่อยได้ใจเบา ยึดเอาจิตหนัก (1-7 พฤษภาคม ศกนี้ หลวงตาจะไปที่ศูนย์ธรรมทิพวรรณ 57 หมู่ 2 ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี).

๑๕๒.

ถาม

อยากรู้จักคำว่าชำแรกกิเลสค่ะ ไม่แน่ในว่าปุถุชนอย่างเราสามารถเกิดสภาวะนี้ได้หรือไม่ คือ รู้สึกได้ถึงจิตที่ไม่ถูกอะไรปรุงแต่ง มันโล่งเบา สบาย ไม่เคยรู้สึกอย่างนั้นมาก่อนเลย เป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ สั้นมากๆ แต่รู้ว่าน่าจะเป็นสภาวะที่ใช่ ที่เราปฏิบัติมาก็เพื่อให้ถึงสภาวะนี้ จิตเข้าใจอย่างนั้นค่ะ หลังจากนั้นก็ไม่เคยเจอสภาวะเช่นนั้นอีก แต่ก็ไม่ได้ดิ้นรนนะคะ เพียงแต่รู้ว่าจริงๆแล้วถ้าไม่ยึดก็ไม่ทุกข์ ถ้าปล่อยก็โล่ง พูดเหมือนง่ายแต่ทำยากจังค่ะ ช่วงนี้ดูฐานจิตไม่ดีเลยค่ะ เห็นอะไรก็เบื่อไปหมดทั้งๆที่ปฏิบัติอยู่แต่โดนกิเลสเล่นงานซะอ่วม นึกว่าดูจิตแต่เข้าไปติดในอารมณ์ซะมากกว่า เลยต้องกลับมาดูกายก่อน ความฟุ้งซ่านเลยน้อยลงค่ะ หลวงตาช่วยแนะนำชี้แนะและแก้ไขสภาวะที่ควรจะเป็นให้ด้วยค่ะ

ตอบ

หนอย...ได้ปีติเล็กน้อยดันว่าชำแรกกิเลสเป็น

ชำแรกกิเลส หมายถึงภาวะวิมุตติหลุดพ้น กิเลสไม่กลับมาเกิดอีก ถ้ายุ่งๆอย่างเธอว่านี่ เค้าเรียกว่าได้อารมณ์สมาธิ แล้วจิตเกิดการปล่อยวางได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่ก็ยังดีกว่าหลายคนนะ ค่อยเป็น ค่อยไป อย่าใจร้อน ธรรมะคือธรรมชาติ ดูกาย ดูจิต ให้รู้เห็นธรรมชาติของเขาว่าเป็นเช่นนั้นเองก็พอแล้ว.

๑๕๑.

ถาม

เป็นคนติดความสวยงามมากค่ะ กลัวอ้วน พอทานอาหารมากก็จะไปล้วงคออาเจียนออกมา ทุกข์มากที่ห้ามใจตัวเองไม่ให้ทานได้ ทำอย่างไรดีคะ เป็นมาหลายปีมากแล้วค่ะ

ตอบ

มาฝึกกับหลวงตาเถอะ มีวิธีที่ไม่ต้องล้วงคอ แต่บอกผ่านสื่อไม่ได้ มันเป็นปัญหาพื้นฐาน สำหรับผู้ฝึกใหม่เท่านั้นเอง ไม่ใช่อารมณ์ลึกลับ สลับซับซ้อนอะไร แก้ไม่ยาก แต่ต้องอยู่ในเหตุปัจจัยที่เอื้อสักหน่อย หลวงตาคิดว่าเธอคงทำได้ดีเชียวแหละ.

ไม่มีความคิดเห็น: