21 ธันวาคม 2555

ความยุ่งยากเกิด อันเกิดแต่ความอยาก สู่วิบากกรรม

ประเทศผู้นำโลกอย่างอเมริกาหรือประเทศที่เขาเจริญมากแล้ว คงได้รับวิบากกรรมของการพัฒนาด้วยอวิชชา ปัญหาโลกร้อนคงส่งผลต่อการพัฒนาในทุกๆ ด้าน การลงทุนสร้างสรรค์ความสุขให้แก่พลเมืองคงใช้เม็ดเงินลงทุนที่สูงมาก เพราะโลกร้อน ปัจจุบันมันได้ส่งผลกระทบไปซะทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์ของมนุษย์ซึ่งเป็นตัวแปรความหมายในจิตให้เกิดสุขหรือทุกข์, การฝึกฝนจิต การวางใจในเวทนาต่างๆ ยังไม่มีวิปัสสนาปัญญามารองรับ ทำให้ผัสสะเวทนาถูกปรุงเป็นมิจฉาทิฐิในทุกๆ เรื่องได้ง่ายๆ

เขาเห็นว่ามีหลายวิธี ที่จะช่วยเยียวยารักษาโลกร้อนได้ หนึ่งในนั้นก็คือการปลูกป่า ป่ามันก็มีอยู่ทั่วไปแต่ป่าไม้มันไม่เยอะเท่าที่ควรไม่มีปริมาณมากพอที่จะช่วยปรับความสมดุลให้กับโลก แต่ที่ผ่านมาการปลูกพืชเราก็เน้นพืชเศรษฐกิจ ไม้ผล พืชผัก เน้นไม้ดอกไม้ประดับ ไม้สวยๆงามๆ ปลูกไม้สนองอารมณ์ ปลูกตามใจชอบ ไม่ได้ปลูกเพื่อช่วยโลกร้อน พืชแคระ ก็เหมือนคนแคระนี่แหละไม่สามารถทำงานหนักงานใหญ่ๆ งานรักษาไฟรักษาอุณหภูมิความร้อนให้กับโลกได้ ปัจจุบันป่าไม้ในโลกนี้มีประมาณ ๑๐,๐๐๐ กว่าล้านไร่ของพื้นที่โลกเอง ซึ่งนับว่าน้อยมาก และมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศที่ความอยากความกระหายการพัฒนากำลังจะเข้าครอบงำอยู่ เช่น แถบอเมริกาใต้และเอเชียใต้ทางบ้านเรานี่แหละที่ป่ายังมีเยอะ สาเหตุคงเป็นเพราะการรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจยังมีน้อย อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายไม่เที่ยงตรงจริงจังรวดเร็วเพียงพอ

ประเทศนายทุนทั้งหลายเขาก็เลยทุ่มงบประมาณมาทางเอเชีย ให้ประเทศในเขตร้อนเรานี้ช่วยจัดการปลูกป่า ให้เม็ดเงินมาลงทุนสนับสนุนให้พวกเราเจ้าของที่ดูแลรักษาป่า เพื่อเป็นปอดให้กับโลก เดี๋ยวนี้มีโครงการปลูกป่าใช้หนี้ด้วย ประเทศไทยใครมีต้นไม้เท่าไหร่แปลงเป็นเงินหรือสามารถเข้าโครงการแปลงต้นไม้ เป็นสินทรัพย์ได้ แต่ทางรัฐของเรามีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ตัวของเจ้าหน้าที่กับเกษตรกรในเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ต่างๆที่จะได้รับ ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องของจิตอันเป็นต้นตอของปัญหาคือเรื่องจากภายในทั้งนั้น

หลายๆโครงการจึงต้องพับเก็บเข้าลิ้นชักไป รัฐไม่เชื่อรัฐ, ชุมชนไม่ไว้ใจรัฐ เกษตรกรยังไม่เห็นเป็นวาระเร่งด่วนสำคัญอะไร คนมันยังไม่เห็นทุกข์ ยังไม่เห็นผลกระทบกับวิถีการดำเนินชีวิต ก็จึงได้ปฏิเสธโครงการหลายๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่ต่างชาติ หรือรัฐ และแม้แต่กลุ่มองค์กรเอกชน หรือ NGO หยิบยื่นให้ บ่อยครั้งที่เกิดปํญหา เพียงเพราะมองแค่ผลตอบแทนเฉพาะหน้า แก้ปัญหาเฉพาะตัวเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้มองไกลไปถึงอนาคตภาพรวม ไม่ได้นึกถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน

เรื่องนี้ คือมีช่วงหนึ่งพวกอนุรักษ์ ผู้นำชุมชน นักพัฒนา นักวิชาการอาจารย์มหาวิทยาลัย เอ็นจีโอสายวัดน่ะเขาได้มารวมตัวประชุมเพื่อปรึกษาหารือแสวงหาแนวทางแก้วิกฤติความเสื่อมของโลกจากปัญหาสังคมที่เกิดจากการใช้ชีวิตที่ขาดสติ ซึ่งต่างก็เห็นปัญหาร่วมกัน คือการขาดองค์ความรู้หรือคุณธรรมในการบริหารจัดการชีวิต ขาดสัมมาทิฐิในรูปในนาม ขาดโพชฌงค์ในการบริหารกายและจิต มิจฉาทิฐิต่อปรากฏการณ์ของธาตุขันธ์ อายตนะ ผัสสะทั้งหลาย และได้สรุปแนวทางการแก้ปัญหา อันเป็นต้นตอหรือสาเหตุของปัญหาความเสื่อมทั้งปวงด้วยการหันกลับมามองด้านในของตัวเองให้ลึกยิ่งกว่าที่เคยเป็นอยู่ ฝึกมองดูรู้เท่าทันจิตด้วยสติสัมปชัญญะจนกระทั่งเกิดวิปัสสนา รู้แจ้งปัญหาชีวิตตามหลักอริยสัจที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ดีแล้วนั้น จึงจะเป็นการแก้ปัญหาแก้ทุกข์ของมนุษยโลกที่ตรงจุดตรงประเด็นได้

และอีกจุดประสงค์หนึ่งก็คือ พูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการรวมกลุ่มกันเพื่อมาปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงองค์ความรู้แบบสัมมาปัญญาที่วัดนี้ นอกจากนี้ เขายังได้เสวนาเรื่องโครงการต่างๆ ที่รัฐหยิบยื่นให้ชาวบ้าน โครงการไหนน่าสนใจ ไม่น่าสนใจ ข้อดี, ข้อเสีย, การบริหาร, การจัดการ, การปลูกจิตสำนึกรักษาสิ่งแวดล้อม โครงการน้อยใหญ่ต้องผ่านการกลั่นกรองมองอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม เกินกว่าที่ควรจะเป็นทั้งในระยะสั้นระยะยาว เพราะมีให้เห็นอยู่ไม่น้อยเรื่องความหวังดีของรัฐที่สร้างปัญหานำความเดือดร้อนไปให้ชาวบ้าน โดยที่เขาไม่รู้ ไม่ได้เป็นคนต้นเรื่อง หรือรู้ก็เมื่อสายไปแล้วจึงไม่อยากให้เป็นปมปัญหาซ้ำแล้วซ้ำอีก

โครงการปลูกป่าก็มีอยู่หลายโครงการที่แทรกซ้อนเข้ามาในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมธรรมชาติเป็นการยับยั้งการทำลายบรรยากาศโลก เพื่อคุณภาพดิน ต้นไม้ทำหน้าที่เป็นปอดของโลกจะได้คลายออกซิเจนดูดซับคาร์บอน ช่วยดูแลรักษาเก็บกัก ป้องกันหรือสลายความร้อนอันเกิดจากความประมาทของจิตมนุษย์ ให้อยู่ในภาวะสมดุล เป็นปฏิรูปเทสวาโส คู่ควรต่อการดำรงอยู่ของสรรพชีวิตตามเหตุปัจจัยแห่งธรรม แต่ส่วนใดที่เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ นั่นไม่ใช่ความประมาท แต่เป็นเรื่องของธรรมชาติจัดสรร มนุษย์เรานั้นก็ต้องยอมรับให้ได้

แต่ในขณะเดียวกันกรณีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น อเมริกา ยุโรป จีน อินเดีย ฯลฯ ก็เป็นปัญหาทำให้โลกร้อนเยอะกว่าปัญหาอื่นๆ ไทยนั้นอยู่อันดับที่ ๒๒ จากทั้งหมด ๒๐๙ ประเทศทั่วโลก ปริมาณคาร์บอนที่เราปล่อยปีละไม่น้อยกว่า ๒๔๕ ล้านตัน อันดับหนึ่งคืออเมริกา ๕,๗๙๙.๕ ล้านตันต่อปี

ทางจีนแรงงานจะถูกประชากรเขาก็ขยัน การจ้างงานก็จึงมีมาก ตลาดผู้บริโภคก็ใหญ่ การเมืองก็นิ่ง เหมาะแก่การเจริญของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โรงงานอุตสาหกรรมมันก็เลยไปเกิดเยอะ มีการทำอุตสาหกรรมรถยนต์ ปิโตรเคมี สร้างโน้นสร้างนี่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมเต็มไปหมด จะเห็นว่าของใช้เครื่องเล่นอุปโภคบริโภคที่ไม่จำเป็น ปัจจุบันจากจีนจะเยอะมาก คนเขาไปสร้างฐานผลิตที่นั่นกันเยอะสร้างวัตถุสิ่งของมาสนองตัณหา ความอยากสะดวกสบาย สนุกสนานเพลิดเพลินในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เพียงแต่เราคิดอะไรเขามีให้ได้ทั้งนั้น วัตถุดิบแร่ธาตุต่างๆที่สนองความอยากเหล่านั้นได้มาจากไหน ก็เจาะเอามาจากไส้ในของโลกใบนี้กันทั้งนั้น

ที่สกลนคร อุดรธานี ดินแดนแถบนี้ก็มีแร่โปแตสเซียม (บ่อเกลือ) กันมากมายมหาศาล อีกหน่อยรัฐบาลคงให้สัมปทานเจาะกินตับจังหวัดเหล่านี้ ทำร้ายโลกแลกการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ ซึ่งอาจได้ไม่คุ้มเสีย หรือดีระยะสั้นเป็นปัญหาในระยะยาวแต่ทุกโครงการก็ผ่านได้เสมอ เพราะให้ผลประโยชน์กับคนบางกลุ่ม เช่น กลุ่มอำนาจอิทธิพล กลุ่มการเมือง จึงไม่แปลกที่โลกจะเสื่อมเร็วอย่างที่เราได้รับผลกันอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ก็จึงทำให้เกิดโลกร้อน

ความจริงปัญหาโลกร้อนนั้นสะสมมานานเป็นศตวรรษแล้ว แต่การรณรงค์เพิ่งได้ผลผู้คนตื่นตัวเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ก็ตอนที่รองประธานาธิดีอัลกอร์ของอเมริกา เป็นคนจุดชนวนนี่แหละ ดูเหมือนว่าการเผยแพร่เรื่องนี้ในรูปแบบภาพยนตร์สารคดี ก็ยังได้รับการโหวดให้ได้รับรางวัลระดับโลกด้วย

ก็คงจะมีมิตรประเทศกว่า ๑๑๕ ประเทศทั่วโลก ที่มีมติเข้าประชุมปรึกษาหารือร่วมโต๊ะเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนทำความตกลงในการแก้ปัญหาโลกร้อนตามพิธีสารเกียวโต และตามอนุสัญญาต่างๆ แต่สุดท้ายก็คงจะอีโก้จัดกันทั้งนั้นแหละ โทษกันไปมาหาข้อยุติยาก เพราะใครก็ต่างทำเพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ตน ประเทศของตนฐานเสียงของตน เรื่องโลกไม่ใช่ของตน ไม่มีใครยอมรับผิด คงโทษกันไปมาหาข้อตกลงยุติอะไรได้ยาก ยืนอยู่บนเรือลำเดียวกันแท้ๆ แต่แทนที่จะซ่อมเสริมกลับเติมน้ำหนักให้กับเรือที่รั่วอยู่แล้วให้มันจมหนักเข้าไปอีก เพราะต่างคนมีทิฏฐิเห็นแก่ตัว คิดแต่จะมุ่งเอาชื่อเสียงเอาตัวรอด ลืมมองว่าปัญหานี้ทุกคนคือสาเหตุ ทุกประเทศคือปัจจัยสร้างเสริมหรือเสื่อมทรุดด้วยกันทั้งนั้น

ว่ากันว่าแม้ทุกประเทศร่วมกันลงขันกองทุนแก้ปัญหาโลกร้อน โดยคิดเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของรายได้มวลรวมของประเทศในแต่ละปีก็อาจยังไม่ทันกาล ที่จะหยุดยั้งรั้งดึงให้โลกกลับมามีสภาพดีดังเดิมได้ แม้แค่เพียงคำว่า ร่วมกันลดการปล่อยความร้อนให้น้อย ก็ไม่รู้ว่าจะมีกี่ประเทศมากน้อยที่จะตกลงใจทำกันในเวลาอันใกล้นี้ อาจเข้าทำนองเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่ายก็ได้

ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังจะพัฒนา ด้อยพัฒนาต่างก็จะอ้างถึงความชอบธรรมจำเป็นของตนเองที่จะตกลงหรือไม่ตกลง ใครๆก็ห่วง GDP กันทั้งนั้น พิษภัยจากโลกร้อนนั้นยังอีกไกล ความจริงใจยังไม่เกิดแล้วอย่างนี้จะหาความจริงจังได้ที่ไหน หรือหากเมื่อมีการตกลงกันได้ ปัญหาโลกร้อนก็อาจเลยเส้นแดงไปแล้วก็ได้ เพราะเรื่องมิจฉาทิฐิ ตัวกู ตัวสู นี้มีผลประโยชน์ของแต่ละบุคคลแต่ละประเทศคู่เจรจาเป็นเงื่อนไข ไม่ได้มองโลกเป็นคนที่อยู่ในชายคาเดียวกันเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ซึ่งทุกข์ของชาวโลก ความเสื่อมของโลก ผลกระทบวิบากกรรมนั้นจะตกแก่ผู้อาศัยไม่ยกเว้น หากบ้านพังก็คงไร้ที่อาศัยหรือหากหมดอากาศหายใจก็ตายกันได้ทั้งนั้นแหละ

ไม่มีความคิดเห็น: