13 ธันวาคม 2555

qa 101-110

๑๑๐.

ถาม

วิธีหาความเย็นท่ามกลางความรัอน สู้มา 6 พรรษาแล้วที่วัดบ้านและวัดอยู่บนดอยที่จังหวัดเชียงใหม่ ขอพลังใจจากพระอาจารย์

ตอบ

ทำใจให้เป็นกลาง แล้วร้อนเย็นจะเห็นเป็นเพียงอาการแห่งธรรม, หยุดสุมไฟเผาใจตนเองเสียก็สิ้นเรื่อง

ราคะ โทสะ โมหะ เป็นไฟมักจะแอบเข้ามากับความคิด , จงเจริญสติให้ใจมีเครื่องกรองอารมณ์ ฝึกมากๆ เข้าไว้จนใจมีแต่ตัวสติรู้ล้วนๆ ความทุกข์ร้อนไม่อาจตกลงมาค้างคาในใจเราได้หรอก....ขี้เรื้อนเกิดที่ตัวก็ต้องรักษาที่ตัว อย่ามัวสงสัยในบรรยากาศ อาหาร สถานที่กันเลย.

๑๐๙.

ถาม

ตอนช่วงที่ฝึกใหม่ๆเวลาที่จิตเค้าไปเห็นตัณหา จะสังเกตว่า เกิดผัสสะ ไปกระทบก่อน เช่น ตาเห็นรูป แล้วเกิดตัณหา เห็นจิตเค้าดิ้นๆเวลาเกิดค่ะ แต่พอฝึกๆไปบางทีก็จะเห็นจิตเค้าปรุงแต่ง หลงไปคิด แล้วถึงเกิดตัณหา ภพชาติ ขึ้นมา ตอนที่เห็นจิตเค้าหลงไปคิด ปรุงแต่ง อันนี้ใช่ ตอนตัววิญญาณ ทำให้เกิด นามรูป ในปฎิจจสมุปบาทหรือเปล่าคะ

ตอบ

การรู้ปฎิจจสมุปบาท ถ้ารู้แจ้งจะสิ้นสงสัย ทุกข์จะทุเลาเบาบางหรือหมดสิ้นไปด้วย , สติเป็นปรมัตต์เห็นการเกิดดับในขันธ์ห้า ชื่อว่าเป็นสัมผัสอาการของปฏิจจสมุปบาท นั่นคือการคลายกิเลสได้ระดับหนึ่งแล้ว , ถ้าตรึกตามอาการไม่มีมรรคไม่สามารถประหารสันตติในจิตได้ อนิจจัง อนัตตาไม่ปรากฏชัด จึงจะไม่รู้จักทุกข์ในปฏิจจสมุปบาททั้งสายอย่างแท้จริง , ห่วงโซ่ปฎิจจสมุปบาทยังหมุนวนทำงานอยู่เช่นเดิม , สิ่งที่ควรทำคือเจริญสติให้เกิดปัญญาเห็นไตรลักษณ์ในวิญญาณด้วยญาณทัศนะเสีย.....เห็นอาการทั้งหลายคือทุกข์เกิดดับเท่านี้ก็พอแล้ว.....จงเป็นผู้ดู อย่าเข้าไปอยู่ในความรู้...

ถาม

อาจจะไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ แต่เพื่อนฝรั่งฝากถามมาว่า การที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้น มีโอกาสไหมที่จะมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นใหม่ในโลก หรือว่าสิ่งมีชีวิตทั้ง 31 ภพภูมิ ปกติแล้วมีจำนวนเท่าเดิมในโลกธาตุ แค่เค้าเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ แต่ถ้าไม่สมควรถามหลวงตา ต้องขออภัยด้วยนะคะ

ตอบ

ภพภูมิทั้ง 31 นั้นเป็นเรื่องของจิตในภาวะอาการที่ต่างอารมณ์ในห้วงขณะเวลาหนึ่งเท่านั้น ความรู้สึกที่ปรากฎจะหมุนไปตามกระแสเหตุปัจจัยกิเลสจัดให้หรือตัณหาจัดสรร, สุคติ ทุคติ , กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปวจรภูมิ, โลกียภูมิ โลกุคตรภูมิ , ฯลฯ นี่มันเป็นเรื่อของจิตทั้งนั้น , สำหรับเรื่องของจิตที่จะเวียนว่ายตายเกิดไม่มีภพภูมิมากน้อยเกินกว่านี้ไปหรอก

ส่วนเรื่องทางกายภาพ ธาตุ 4 นี้ ก็สามารถสร้างรูปลักษณ์ไปตามวิวัฒนาการตามเหตุปัจจัยภายนอกที่มี (นี่ไม่ใช่เรื่องของพุทธะ) , ตายเกิด ตายแล้วดับสูญ ตายแล้วเกิดก็มีสูญก็มี พุทธองค์ล้วนตรัสว่าเป็นมิจฉาทิฐิทั้งนั้น. ถ้าอยากรู้แจ้งตามจริงต้องมองภายใน หากมองภายนอกออกไปความสงสัยยังปรุงใจทำให้ทุกข์.

๑๐๘.

ถาม

มีวิธีช่วยเหลือคนที่ฆ่าตัวเองตายไหมคะ ไม่ให้เขาได้รับผลแห่งกรรมที่ก่อ หรือไม่ต้องกลับมาเวียนว่าย อีก 500 ภพ ชาติ คะ เพื่อน ป.เอก เขาฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังเรื่องเรียนค่ะ

ตอบ

หลวงตารับช่วยเฉพาะคนที่เป็นๆ มีรูปมีนาม มีจิตใจใฝ่รู้สัจจะของชีวิต มีพุทธภาวะอยู่ระดับหนึ่ง (มีศรัทธาและปัญญาในเบื้องต้นพอสมควร) , และที่สำคัญคือแม้คนเป็นๆ นี่ยังไม่กล้ารับรองร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะช่วยได้ ยิ่งคนตายแล้วไร้รูปไร้นามจะตามไปช่วยที่ไหน ไร้ปัญญาจริงๆ , กระบวนทัศน์การศึกษาในพุทธศาสนามุ่งแก้ปัญหาคนเป็น, คนเป็นคือผู้มีปัญหา และหรือกำลังจะสร้างปัญหา... นักปราชญ์ศาสนาทั้งหลายพยายามที่จะเอาเรื่องการตาย เอาศพ เอาเรื่องหลังการตายมาเป็นอุปกรณ์สอนคนเป็น เป็นสิ่งเร้าช่วยให้เห็นทุกข์เห็นธรรมเร็วขึ้น , ที่ญาติๆ ช่วยกันทำบุญทำทานแท้จริงแล้วเป็นการช่วยพยุงจิตให้พวกเราเป็นๆ นี่เองนะ ช่วยให้เข้าถึงบุญที่แท้จริงคือ การพ้นทุกข์อย่างไรล่ะ ไม่ต้องเวียนว่ายไปคิดถึงเขาอีก.....ให้ทาน รักษาศีล เจริญสมถะ ปฏิบัติวิปัสสนา ทำให้ครบ วิญญาณคือการรับรู้ทางผัสสะ หรือจิตดวงนั้นรับรองว่าเข้าถึงธรรมแน่ๆ จะไม่เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิใดๆ อีกต่อไป...สัพเพ ธัมมา อนัตตา สิ่งทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน , สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น.......ธรรมทั้งปวงเพียงเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ให้เห็นแจ้งในสภาวะที่เป็นจริงเท่านั้น.

๑๐๗.

ถาม

ได้อ่าน "คู่มือการรู้สึกตัว" ของหลวงพ่อเทียนในเว็บนี้ อ่านแล้วเข้าใจง่าย และตั้งใจว่าจะปฏิบัติตามแนวเคลื่อนไหวสร้างจังหวะ เพราะเคยฝึกมาบ้างแล้ว แต่มีคำถามว่าเหตุใด จึงต้องงด ชา กาแฟ ด้วยคะ ถ้างดแล้วจะทำให้การเจริญสติดีขึ้นหรือคะ ถ้าใช่ก็พร้อมจะงดค่ะ

ตอบ

การเจริญสติ คือศาสตร์ของการแสวงหาคำตอบของชีวิต ความยึดติดผูกพันคืออาหารของนิวรณ์ นิวรณ์คือกิเลสที่ควบคุมจิตไม่ให้มีกำลัง นิวรณ์เกิดจากความเคยชิน ความตามใจ การสร้างนิสัย การยึดติด ผลิดอกออกผลเป็นอุปาทาน เหนียวแน่นตัดไม่ขาด วางไม่ลง ปลงไม่ได้ ...

ติดรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ จิตไม่สามารถเกิดพลังสมาธิที่เป็นมรรคกล้าแกร่งแทงทะลุกิเลสได้ จิตไม่อาจเกิดปัญญาญาณเห็นธรรมที่ลึกซึ้ง “โลกุตรธรรม” ได้

การปฏิบัติธรรมจึงควรให้จิตหรืออายตนะ เกี่ยวข้องกับเฉพาะสิ่งที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ไม่ให้กิจกรรมใด สิ่งเสพติดใด ผัสสะอารมณ์ใดเข้ามาปรุงแต่งจิต หรือสร้างเงื่อนไขให้หลุดจากสภาวะปัจจุบันธรรมโดยไม่จำเป็น ฯลฯ ไม่ควรเอาคลื่นกิเลสตัณหาใดๆ มารบกวนใจให้ขุ่นเวลาปฏิบัติ.

๑๐๖.

ถาม

เวลาทำสมถะบางทีจะเกิดมหาปีติ หรือว่าเวลาเจอพ่อแม่ครูบาอาจารย์จะเกิดมหาปีติเช่นกัน แบบขนลุกมากๆ สมาธิตั้งมั่นขึ้นมาค่ะ เวลาที่เกิดมหาปีติ เราจะวางอุเบกขาอย่างไรคะ

ตอบ

การพัฒนาจิตตามวิถีพุทธคือ ต้องเริ่มต้นที่สัมมาสติ ฝึกรู้ตัวให้ต่อเนื่องจนรู้อารมณ์ / ปล่อยวางอารมณ์ได้แล้ว หากเกิดปีติจะมาพร้อมกับปัญญา ปีติจะอยู่ในภาวะที่พอดี โล่งโปร่ง ไม่มากไม่น้อย สภาวะนี้จะเป็นตัวเสริมสร้างให้จิตเป็นสัมมาสมาธิ จิตเดินมรรคได้อย่างถูกต้องและมีพลังไม่หลงทาง แต่หากปีติเกิดตามธรรมชาติ ตามสัญชาตญาณที่ไม่มีสติปัฎฐาน4 เป็นฐานจะทำให้หลงทางหลงอาการได้ง่าย วิถีการตรัสรู้ตามหลักของพระพุทธเจ้ามีอยู่ 7อย่างตามลำดับดังนี้ สติ ธัมมะวิจัย วิริยะ ปีติปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา

จิตที่เกิดปีติได้ง่าย ได้มากนาน และได้รุนแรง เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะหากได้กัลยาณมิตรชี้นำที่ดีก็ดีไป สามารถรู้ธรรม เห็นธรรมได้ง่าย ได้ไว แต่หากปล่อยไว้ก็จะกลายเป็นสมาธิอุปาทานหนาแน่นแบบกู่ไม่กลับ ... ต้องเริ่มที่การระลึกรู้ตัว ฝึกสติให้เข้มแข็ง เพื่อจะได้ออกจากปีติได้ไว หรือเพื่อจะได้เห็นรู้เท่าทันการเกิดดับของปีติในจิต ตามกำลังของสติ ตามมรรคสัจจะที่ควรจะเป็น.

๑๐๕.

ถาม

ดิฉันได้รับคำตอบจากหลวงตา ทำให้มีทางออกและรู้จักตัวเองมากขึ้น ช่วงนี้สภาวะจิตเริ่มดีขึ้น สังเกตจากเหตุการณ์ที่มากระทบ ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงร้อนและดิ้นด่าวๆ แต่ตอนนี้จิตมันเฉยไม่ยินได้ยินร้าย ความเจ็บปวด ทุรนทุรายพังพินาศลงอย่างเห็นได้ชัด รู้สึกดีกับสภาวะจิตแบบนี้ เพราะมันเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับจิตของเราเอง ตัวเราเท่านั้นที่สัมผัสได้ นานแล้วที่ไม่ได้เข้าวัดแต่มี mp 3 ของหลวงตาซึ่งเปิดฟังประจำ ก็พอเตือนสติได้บ้าง เวลานี้ก็กำลังเป็นผู้ตามดูอาการที่เกิดขึ้นกับจิตของตัวเอง และก็คอยแก้ไขอารมณ์ไปตามอาการที่เกิด ผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่ก็มีสภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ เวลาที่จิตมันอึดอัดมากๆทุกข์มากๆ แล้วจิตมันจะเกิดการปล่อยวาง และเห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันไม่มีตัวตน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เพียงแต่เรารู้เท่าทันมัน มันก็ค่อยจางหายไป หากมีโอกาสลูกจะเข้าปฏิบัติธรรม เพื่อเพิ่มตัวสติให้เข้มแข็ง และคมชัดมากกว่านี้

ตอบ

“วัด” ตามความหมายมุ่งที่แท้จริงก็คือ การวัดจิตวัดใจ วัดอุณหภูมิของกิเลสหรือธรรมะ สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ปล่อยวาง ยึดติด ผิดถูก ชอบชัง ที่ปรากฏเกิดอยู่ในจิตเรานี่แหละ หากเราทำอยู่แล้วความจำเป็นเรื่องของสถานที่ก็จะน้อยลง คนที่ปฏิบัตินานๆ ผ่านคอร์สมาแล้ว ควรกล้าที่จะผ่านอารมณ์ที่ยาก ๆ ละเอียด ๆ อารมณ์ที่ต้องใช้ความอดทนสูง, หากทำได้สภาวธรรมย่อมปรากฏให้เห็นเสมอ ภูมิจิต ภูมิธรรม ภูมิรู้ย่อมสูงตามไปด้วย ให้มองเป็นเรื่องการศึกษา เร็วช้าเป็นเรื่องธรรมะหรือกิเลสจัดให้, หากกล้าดูทุกข์เฉยๆ ได้ ตัวทุกข์จะกลายพันธุ์เป็นสุข เป็นว่าง เป็นอนัตตา อย่างว่าให้เห็นเสมอ.

๑๐๔.

ถาม

ปัจจุบัน หนูตั้งใจเจริญรอยตามเส้นทางที่หลวงตากำลังเดินอยู่คะ อาจจะช้าในการมุ่งสู่หนทางที่สุดของกองทุกข์ แต่จะไม่ท้อต่อกิเลสในใจคะ

ตอบ

หากความท้อแท้ใจในการปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นเมื่อใด ก็เท่ากับเปิดประตูใจยอมรับจับมือกับกิเลสเมื่อนั้น.

๑๐๓.

ถาม

ผมเป็นพระบวชใหม่ มีความตั้งใจจะปฏิบัติสู่มรรคผลนิพพาน ตอนนี้รู้สึกฟุ้ง กับแนวปฎิบัติแบบไหนดี ที่จะเข้ากับจริต ตัวผมเอง ซึ่งปกติทุกวันนี้ก็เพียงแค่นั่งสมาธิครับ ลักษณะนิสัย เป็นคนง่าย ๆ ไม่ค่อยเรื่องมาก พูดน้อย ปล่อยวางง่าย และถ้าอยู่กับคนหมู่เยอะหรือให้แสดงออก จะประหม่าไม่ค่อยมีความมั่นใจตัวเองเคยฟังเทปแนวของหลวงพ่อปราโมทย์ รุ้สึกชอบ และแนวหลวงพ่อเทียนปฏิบัติโดยศึกษาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต พี่งปฏิบัติได้ไม่นาน

จนตอนนี้ผมมีคำถาม นั่งสมาธิไปทำไม เพื่ออะไร การเจริญสติ เพื่ออะไร แนวทางที่จะปฏิบัติสู่มรรคผลครับ ขอให้พระอาจารย์เมตตาช่วยชี้แนะนำให้ด้วยนะครับ

ตอบ

คำตอบทั้งหมดนี้มีอยู่แล้วในหนังสือ  “การรู้ธรรมแบบรู้แจ้ง”  เข้าใจว่าจะตอบข้อข้องใจสงสัยได้ทั้งหมด ลองหาอ่านดูนะ.

๑๐๒.

ถาม

อยากทราบว่าตัวเองปฎิธรรมไปได้ถึงขั้นไหนแล้วต้องดูจากตรงไหนคะ คือ เห็นความคิดได้บ้างแล้ว และตัดความคิดได้บhางแล้ว แต่บางครั้งก็ยังทุกข์อยู่ ตัดใจไม่ได้ในบางเรื่อง บางครั้งไม่มั่นใจ มันคืออะไรกันแน่ อาการที่เกิดขึ้นกับจิตก็พยามดู แต่มันก็เกิด ดับ เกิด ดับอยู่ร่ำไป บางครั้งอาการอย่างนี้เกิดขึ้นแล้ว และมันก็ดับไปแล้ว แต่ทำไมมันต้องเกิดขึ้นอีก ทั้งที่เราก็พยายามปฎิบัติอยู่ที่บ้านตามแนวที่หลวงตาแนะนำ มีความรู้สึกเหมือนการปฎิบัติธรรมไม่ก้าวหน้า รู้สึกท้อในบ้างครั้ง หลวงตาช่วยแนะวิธีด้วยค่ะ
ตอบ

ทำยังไม่ถึงธรรมขั้นลึก ธรรมะแบบผิวเผิน ปฏิบัติแบบฉาบฉวยมันก็จะเป็นอย่างนี้แหละ...ต้นไม้ถ้ารากไม่ลึกพอ ลมพัดมาก็ล้ม หรือไม่ก็โอนเอน แต่ถ้าหากรากลึกพอ มันก็ย่อมมั่นคงไม่หวั่นไหวไปกับแดด ฟ้า ลม ฝน เช่นกันใจคนก็เป็นดั่งนั้นแหละ, ทำไปจนกระทั่งความสงสัยมันหายโน่นแหละ, ตอนนี้มันยังมีทำไม ทำไม ทำไม... ทำใหม่ให้ตัวทำไมมันหายไปจนเหลือทำเพื่อธรรม ทำให้ถูกธรรม ทำให้ถึงธรรม ทำให้เห็นธรรม ทำให้เป็นธรรม แล้วทำไปก็จะได้ธรรมก็เท่านั้นเอง.

๑๐๑.

ถาม

การวางอารมณ์ทำอย่างไร ดิฉันเป็นคนที่มีความทุกข์กับสภาวะของอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งมากระทบ ทำไมความทุกข์ชัดมาก มันเหมือนมีก้อนเมฆมาทับตัวเองอยู่ ความอึดอัดขัดเคือง ทุรนทุรายก็เกิดขึ้น บางครั้งอยากร้องไห้แต่ก็ร้องไม่ออก มันเป็นอะไรที่ทรมานมากค่ะ ในบางครั้งก็ทุกข์กับเรื่องเล็กๆน้อยๆซึ่งไม่น่าจะทุกข์ โดยเฉพาะกับคนที่มีผลต่อความรู้สึกของตัวเอง จะทุกข์กับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเขามาก อยากทราบวิธีวางอารมณ์ และวิธีที่ทำให้ใจเป็นกลาง ไม่ต้องไปอะไรมากมาย กับเรื่องไร้สาระบางเรื่อง รุ้สึกเบื่อในความคิดของตัวเอง หลวงตาช่วยลูกช้างด้วยเถอะ

ตอบ

คนที่ยังไม่เห็นธรรมชาติความจริงของชีวิต หรือชีวิตที่ยังไม่เห็นธรรม มันจะทุกข์แบบนี้แหละ ก็เธอไปให้ความทุกข์มันทับทำไมล่ะ ถ้าเห็นมันชัดขนาดนั้นก็หลบหลีกมันออกไปสิ หรือไม่ก็ทำลายมันซะ, คนที่ชอบเป็นทุกข์กับคนอื่น ความจริงแล้วคือคนที่ยังไม่เห็นธรรมสัจจะในอารมณ์ของตัวเอง คนพวกนี้ชอบมองตนว่าดีกว่าคนอื่น ทิฐิมานะสูง อัตตาตัวตนหนาแน่น มักจะมองตนดีกว่าคนอื่นเสมอ เชื่อความคิดเห็นตัวเอง จิตตัวเองจะไม่มีช่องว่างให้ความคิดเห็นของผู้อื่นเข้ามาได้เลย จัดอยู่ในกลุ่มบุคคลที่มีจิตอันน่าสงสารเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันจิตประเภทแบบนี้นับวันแต่จะมีมากขึ้น

การสร้างจังหวะหรือเดินจงกรมเป็นการทำจิตให้ออกมาอยู่กับปัจจุบัน ให้จิตมาระลึกรู้อยู่กับกาย เป็นผู้เห็นกาย เห็นจิต เห็นความคิด เห็นอารมณ์... ออกจากความคิดนั่นแหละคือการออกจากทุกข์ วางความคิดนั่นแหละคือวางอารมณ์... การมารู้อยู่กับกายกับจิตอย่างต่อเนื่องนี้เป็นการพัฒนามรรค, หากปัจจัยที่ทำเกิดความต่อเนื่องก็จะกลายเป็นผล, ไม่หลงเข้าไปในความคิด ไม่ยึดติดรูปนาม มีความรู้ตัวตื่นตัวอยู่เสมอ เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับกายและจิตตามความเป็นจริง นั่นแหละคือการมีจิตเป็นกลางล่ะ.

ไม่มีความคิดเห็น: