13 ธันวาคม 2555

qa 111-120

๑๒๐.

ถาม

เวลาเดินทางบนรถโดยสารหนูก็จะเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น กระดิกนิ้ว ประมาณชั่วโมงกว่าในแต่ละครั้ง ปรากฏว่า จะมีอาการเบลอๆคล้ายกับไม่ใช่ตัวเราคะ เวลาลงจากรถเดินจะรู้สึกว่าตนเองเดินชัดมากแต่เหมือนไม่ใช่ตัวเอง จนบางครั้งหนูก็ไม่กล้าที่จะเฝ้าดูตัวเองอีก ไม่ทราบจะแก้ไขอย่างไรดีคะ เพราะใจยังอยากที่จะฝึกสติต่ออยู่

ตอบ

อย่าดูแบบเพ่งจ้องเข้ามาข้างในมาก ปล่อยจิตมันไม่เที่ยงบ้าง จิตมันเหงาซึมเซา เอาสติคล้องใจ อย่าไปมัดใจ.

๑๑๙.

ถาม

ทำไมอาการของจิตตอนนี้เกิดโทสะเร็วมากเลยค่ะ โดยเฉพาะกับคนใกล้ตัว ตอนที่โกรธก็รู้ตัวนะคะว่าโกรธ บางทีถึงขั้นพูดจาหยาบคายก็มี ความโกรธมักจะมาหลังจากที่โดนน้องชายพูดจาตะคอกค่ะ เกิดคำถามค่ะว่าเจริญสติไปแล้ว จะทำให้รู้เท่าทันโทสะได้ไหม ไม่อยากโกรธไปแล้ว พูดจาทำร้ายคนอื่นไปแล้ว ค่อยมาคิดได้ทีหลังค่ะ ขออีกคำถามค่ะ แล้วคนธรรมดาทั่วไป เขาเป็นกันยังไงคะหลวงตา ชักจะไม่มั่นใจแล้วว่าเราคือคนธรรมดาเหมือนคนอื่นเขารึเปล่า (ตั้งแต่น้องบอกให้ไปหาจิตแพทย์)

ตอบ

สติน้อย , สติช้า, ปัญญายังไม่เกิด ก็เป็นเช่นนี้แหละ, ใกล้ชิดสิ่งใดอุปาทานสิ่งนั้นก็จะมีมาก หากยังไม่เกิดปัญญา.

๑๑๘.

ถาม

ตอนนี้ปฏิบัติแบบตามรู้กายรู้ใจในชีวิตประจำวัน เผลอไปคิดรู้ได้ดีขึ้น รู้สึกว่ากายไม่ใช่ตัวเราได้บ่อยโดยเฉพาะตอนทำงานบ้าน แต่ใจรู้สึกว่าเป็นตัวเราอยู่ อ่านหนังสือธรรมะมีความรู้สึกว่าเข้าใจมากขึ้นอย่างประหลาด

ตอบ

ฟืนติดไฟ ใจติดธรรม....ฉันใดฉันนั้น....เพียรเพ่งเผาเรา-เขา ออกไปให้หมด พยายามให้เหลือแต่ธรรมชาติรู้.

๑๑๗.

ถาม

ช่วงนี้ฝึกเจริญสติ เวลาที่จิตมีสมาธิมากขึ้นจะได้ยินเสียงซึ่งอยู่ไกลมากมาก เห็นตัวจิตที่อยากได้ยินต่อ จิตที่สงสัย แล้วก็สังขารปรุงแต่งต่อว่าหรือว่าเป็นหูทิพย์ แต่สติก็ทำให้ระลึกขึ้นได้ว่าจริงๆแล้วก็เป็นแค่สภาวะธรรมดา เค้าก็ยังเกิดดับให้เห็นเท่านั้นเอง ยังปฏิบัติอยู่ในร่องรอยใช่ไหมคะ

ตอบ

ให้ฟังเสียงจิตให้ได้ยินเสียงเหมือนการปรบมือข้างเดียว หูทิพย์คือการได้ยินเสียงปัญญาสอนใจเรา.

๑๑๖.

ถาม

ผมรู้สึกว่าตนเองทำไมถึงได้อาภัพนัก เวลาจะมีคู่ครองก็มันจะล้มเหลวในท้ายที่สุด มีถึงขั้นวางแผนแต่งงาน แต่ท้ายที่สุดก็ล้มเหลว โดนรังเกียจไปเสียหมด แต่ตอนที่รักกันก็เหมือนว่านี่คือที่สุดแห่งชีวิต การไม่มีคู่นี่ถือว่าเป็นกรรมหรือเป็นบุญหรือครับ แล้วถ้าหากชาตินี้เราไร้คู่แล้ว เกิดมาใหม่ภพหน้าเท่ากับเราหมดห่วง บ่วงกรรมกับคนอื่นแล้วหรือเปล่า ชาตินี้ที่ผ่านมาแล้วจากเราไปเพราะว่าเป็นบุญกรรมที่ทำมาเท่านั้นใช่หรือเปล่าครับ

ตอบ

ที่วัดโสมพนัสทั้งหมดนี้ก็จัดอยู่ในข่ายชมรมคนไร้คู่เหมือนกันนะจ๊ะ ถ้าจะมองว่าเป็นกรรมก็คงจะเป็นกรรมดีอย่างสุดๆ เป็นมหากุศลอย่างแรงที่แมงตาตี่ไม่วิ่งมาชน... กุศลกรรม บุญ สองคำนี้เป็นได้ทั้งเหตุและผล เหตุคือเป็นการสร้างโอกาสให้กับเราได้เข้าถึงนิพพานซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ทุกคนที่เกิดมา เราสามารถฝึกจิตได้โดยที่ไม่ต้องมีใครมาขัดขา ไม่ต้องมีภาระใดมาให้แบก ผลคือบุญกรรมนี้มีแต่ภาวะปัจจุบันธรรมเท่านั้น

เรื่องกรรมนี้ยังมองได้หลายมุมแม้จะไม่มีกายกรรม วจีกรรม แต่เธอก็ยังมีมโนกรรม จิตยังมีตัณหาเยื่อใยยางแห่งความอยาก การที่จะไม่มี ไม่เกิดภพชาตินั้นยังเป็นไปไม่ได้ พูดง่ายๆคือถ้ายังมีความคิดความอยากอยู่ ภพชาติก็ย่อมมี... ใจเย็นๆน่า จิตไม่มีวิปัสสนา ตัณหาปั่นป่วนขนาดนี้ ต้องมีนางมารร้ายไปโผล่ในข่ายกรรมเธอแน่นอน... ซ้อมสติเอาไว้ดีๆก็แล้วกัน แล้วอย่าดันมาขอพรขอวิธีแก้กรรม แก้บาป แก้บุญ เด้อ โยมเด้อ เด้อ เด้อ โยมเด้อ...!!!

๑๑๕.

ถาม

กระผมฝึกแบบหลวงพ่อสุริยาและหลวงพ่อปราโมทย์เป็นแบบอย่าง ขอถาม...มีพระอาจารย์วัดป่าแห่งหนึ่งที่จ.อุดร แนะนำว่าถ้าอยากได้ธรรมะไวๆให้ทำสมาธิให้ถึงอัปปนาพอจิตถอยออกจากอัปปนาแล้วยกเอารูปนามขันธ์ห้าขึ้นพิจารณาผมเลยถามท่านว่าที่ว่าพิจารณาไม่ใช่คิดเอาเหรอ กราบเรียนหลวงพ่อช่วยอธิบายส่วนตัวกระผมยึดแนวหลวงพ่อสุริยาและหลวงพ่อปราโมทย์ล้านเปอร์เซ็นครับ ผมเคยเอาซีดีของหลวงพ่อสุริยากับของหลวงพ่อปราโมทย์ให้ท่าน ท่านก็ว่าดีแต่ท่านก็ยังปฏิบัติแบบเดิม

ตอบ

สมาธิมี 3 ระดับ

1. ขณิกสมาธิ หมายถึง ความตั้งมั่นของจิตในแต่ละขณะๆหนึ่งๆ

2. อุปจารสมาธิ หมายถึง ความตั้งมั่นของจิตที่จะจวนจะแน่วแน่

3. อัปปนาสมาธิ หมายถึง ความตั้งมั่นของจิตในระดับที่นิ่งดิ่ง ถึงกับดับการรับรู้ผัสสะทางอายตนะไปเลยก็มี

สมาธิพุทธที่ก่อให้เกิดภาวะของวิปัสสนานั้น ไม่ต้องมาก เพียงใช้ระดับที่ 1 หรืออาจจะเฉียดระดับ 2 น้อยๆ... จะให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ไม่ได้เริ่มที่การฝึกสมาธิ แต่จะเริ่มที่การฝึกสติระลึกรู้ แต่ละขณะๆเท่านั้น เช่น อานาปานสติ กายคตาสติ ฯลฯ ดังที่ปรากฏอยู่ในมหาสติปัฏฐานสูตร พอสติต่อเนื่องรู้อยู่กับอาการกาย(รูป)ได้ระดับหนึ่งก็จะสามารถเกิดวุฒิภาวะทางธรรมเห็นจิต(นามหรือขันธ์ห้า)ได้เลย

ลองใช้แบบฝึกหัดต่อไปนี้ก็ได้ ฝึกสติระลึกรู้จิตเลยหรือไม่ก็รู้กายกับจิตไปพร้อมๆกัน อาทิ ขณะยกมือสร้างจังหวะ หรือเดินจงกรมก็ให้ดูขันธ์ห้า รับ ดื่มด่ำ จำ คิด รู้ ไปด้วยกันได้เลย อันนี้คุณหรือใครๆก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องให้เกิดอัปปนาก่อนดอก

เรื่องอัปปนานี้ก็เช่นกันมีสองแบบ คือ

1. นิ่งดิ่งไม่ไหวติงติดอยู่ในสมาธิจนออกไม่ได้

2. นิ่งดิ่งหลับใหลจนลืมตัว โงหัวได้ก็รุ่งเช้า (สมาธิแบบหรี่ไฟ)

ที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป ส่วนมากจะเป็นแบบหลังนี้เสียมากกว่า หรือไม่บางครั้งจิตยังไม่มีกำลังของสติก็นำความคิด ขันธ์ห้ามาพิจารณากันแล้ว แทนที่จะเป็นผู้เห็นขันธ์ห้าทำงานกลับกลายเป็นว่าถูกอุปาทานขันธ์ดูดกลืนเข้าไปอยู่ในวังวนนั้นเสียนี่ แทนที่จะเข้าถึงวิชาม้างกายทำลายขันธ์ ก็กลับเป็นวิตกวิจารกายอย่างไร้สติเป็นปุญญาภิสังขาร คือการคิดดี ดีๆเรานี่เอง เพียงแต่คิดเรื่องกายภายใต้กรอบอสุภสัญญาเท่านั้น ฯลฯ

๑๑๔.

ถาม

ขออนุโมทนา กราบขอบพระคุณหลวงตาที่เปรียบเสมือนดวงไฟที่ทำให้สัตว์โลกอย่างลูกๆ ได้พบหนทางสว่าง มีดวงตาที่เห็นธรรมได้บ้าง เข้าใจในเรื่องของภพภูมิ ความจริงเป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้นกับจิตเท่านั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เวลานี้เหมือนได้ชีวิตใหม่หลังจากที่ได้รู้จักวัดโสมพนัส เข้าคอร์สปฎิบัติธรรมหลายครั้ง ได้ต่อสู้กับกิเลสของตัวเองอย่างหนัก ความยึดมั่นถือมั่นต่างหากที่ทำให้เราเป็นทุกข์ ในขณะที่ตกอยู่ในสภาวะถูกกิเลสเผาใจ รู้สึกตัวเหมือนเป็นโรคชนิดหนึ่ง นั่นก็คือโรคความคิด คิดแล้วก็ ปรุงแต่ง ทำให้เกิดอารมณ์ พอใจ ไม่พอใจ ล้วนแต่ความทุกข์ทั้งสิ้น แต่ด้วยคำสอนของหลวงตาทำให้มีสติ พยายามจะเอาชนะตัวกิเลสทั้งมวล ในที่สุดก็หลุดจาก ห้วงของความคิดและความรู้สึกที่ทุกข์ทรมาน ซึ่งกว่าจะหลุดได้ก็อาการร่อแร่เหมือนกัน เวลานี้จิตหยุดปรุงแต่ง ทำให้มีความเย็นและสงบเข้ามาแทนที่ แต่ก็ยังมีอาการพอใจกับอาการที่เกิดขึ้น ก็พยายามบอกกับตัวเองว่ามันไม่เที่ยงนะ เพียงจิตเราเย็น จิตเราสบาย มองเห็นสิ่งรอบข้าวก็รู้สึกสบายไปหมด เพราะจิตเราเองต่างหากที่สบายไม่ใช่สิ่งแวดล้อม ก็คอยสังเกตอาการที่เกิดขึ้นกับจิตเสมอๆ รู้สนุกเป็นเรื่องที่ชวนติดตาม เป็นเรื่องที่ควรศึกษา อยากจะบอกกับทุกคนว่า ธรรมมะไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวเลย ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึง มีสิทธิ์พบแสงสว่างในชีวิตได้

ตอบ

อนุโมทนา อย่าชะล่าใจเสียล่ะ เพราะกิเลสนั้นมีแปดหมื่นสี่พันกระบวนเพลง จอมยุทธที่ดีต้องเก็บกระบี่ไว้กับตัว นักปฏิบัติธรรมสมัครเล่นใหม่ๆระวังอย่าให้ใจห่างสติก็แล้วกัน.

๑๑๓.

ถาม

มีข้อสงสัย ขอความกรุณาจากหลวงตาด้วยค่ะ ขณะพูดกำหนดอิริยาบถอย่างไรคะ

ตอบ

กำหนดอาการที่ปากขยับไปด้วย กำหนดดูอาการของจิตไปด้วย, เพราะผู้ปฏิบัติที่สามารถดูสัมปชัญญะบรรพได้ (คือกำหนดอิริยาบถย่อยๆได้) แสดงว่าผ่านการฝึกกำหนดรู้อิริยาบถใหญ่มาบ้างแล้วพอสมควร จึงไม่ยากที่จะดูจิตไปด้วยพร้อมๆกัน.

๑๑๒.

ถาม

บางทีจิตก็ยึดกาย บางทีก็ไม่ยึดกาย บางทีจิตยึดจิต ไม่ยอมวาง บางทีก็วางจิต วางโดยไม่รู้ตัว บางทีทุกข์ บางทีรู้ทุกข์ ไม่สนใจทุกข์ จิตนี้สุดๆ ผมควรจะดูกริยาของจิตต่อไปใช่ไหมครับ

ตอบ

ครับ หลวงพี่.

๑๑๑.

ถาม

ทุกวันนี้ภาวนาไป รู้สึกจืดชืด บางวันสติก็เกิด บางวันก็ไม่เกิดค่ะ จะมีวิธีสร้างกำลังใจให้ตัวเองในการภาวนาอย่างไรดีคะ แต่จะขอปฏิบัติบูชาตลอดไป จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ค่ะ

ตอบ

สติ แปลว่าความรู้ตัว, ความระลึกรู้อาการของกายและจิต, สติ คือสภาวะที่รู้กายเคลื่อนไหว รู้จิตใจนึกคิด (รู้กาย, เวทนา, จิต, ธรรม) กำหนดรู้เมื่อไหร่ สติก็จะทำหน้าที่เมื่อนั้น, หากหมดกำลังใจท้อแท้ อาจสร้างเหตุปัจจัย จูงใจให้ขยันมุมานะ อุตสาหะ ปรารภความเพียรเพื่อให้กายเฝ้าดูการกำหนดรู้ดำเนินต่อไปได้ โดยพิจารณาถึงประโยชน์-โทษที่จะได้รับกับชีวิตหากทำตามหรือไม่ทำตาม ด่าตัวเอง สอนตัวเอง ฝืนตัวเองให้มาก, ยิ่งสูง ยิ่งละเอียด ยิ่งต้องใช้ความเพียรต่อเนื่องสูง หากสอนตัวเองไม่ได้ ก็ไปหากัลยาณมิตรชี้แนะชักนำ หรือช่วยกล่อม จะให้ดีจริงๆ ก็คือให้เฝ้าดู เช็คดูอาการที่เกิดกับจิตตัวเองนั่นแหละ จริงเท็จอยู่ตรงนั้น สิ้นทุกข์ ถ้าสุขก็อยู่ตรงนั้น เฝ้าดูอาการของจิตที่ติดอารมณ์ ดูใจตรงๆได้นี่แหละเรียกว่าใช้โยนิโส เธอลองไปทำโยนิโสให้เป็นโยธัมมังดูบ้างสิ ตรงนั้นมีคำตอบให้ได้กับจิตทุกดวง.

ไม่มีความคิดเห็น: