13 ธันวาคม 2555

qa 91-100

๑๐๐.

ถาม

ถ้าเราปฏิบัติ แค่ตามดูกายบ้าง อารมณ์บ้าง ซึ่งก็เห็นอาการเกิดดับของอารมณ์บ้าง แต่ไม่ถี่นัก โดยไม่ได้นั่งสมาธิสวดมนต์เลย อย่างนี้ถูกต้องรึเปล่าคะ และควรทำสิ่งใดเพิ่มเติม (เมื่อก่อนนี้เคยสวดมนต์ และนั่งสมาธิมาบ้างแต่ตอนนี้ไม่ได้ทำเลย)

ตอบ

ทำสิ่งใด แม้เป็นไปพร้อมใจใสศรัทธา ย่อมเกิดปัญญาเห็นคุณค่าสิ่งนั้น,.....ปรากฏการณ์ทางสังคมยังมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นโลกได้เลย แล้วทำไมเราจะเอากิจกรรมทางศาสนามาเป็นพุทธภาวะในจิตเราออกมาไม่ได้.....การสวดมนต์...การภาวนารูปแบบต่างๆ มันเป็นเรื่องของเทคนิค เป้าหมายก็คือเพื่อให้จิตเกิดปัญญารู้แจ้งธรรมนำสู่นิพพาน

แต่การจะกำหนดรู้ในวิถีชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความเพียรสูงยิ่ง ต้องรู้ ต้องเข้าใจถูกต้องจริงๆ ทั้งหลักการ วิธีการปฏิบัติ เป้าหมาย ลำดับวิธีการแก้ไข อารมณ์ หากมั่นใจก็ทำได้.... เรื่องปัญหานั้นมีแน่ แต่เกิดเพื่อแก้ไม่ใช่มีไว้กลัว.

๙๙.

ถาม

ตอนสร้างจังหวะ หรือเดินจงกรม จะมีสติดีมาก แต่พอตอนอยู่ในสังคม หรือการทำงาน จะขาดสติบ่อยๆ ไม่ทราบต้องทำยังไงคะ

ตอบ

รู้ว่าขาดสติ ยังดีกว่าสติขาด เพราะอย่างน้อยก็ยังมี “รู้” อยู่....ขาดสติเป็นทุกข์ สาเหตุคืออะไร ?เวลาสติมาสบายใจไหม? วิธีทำสติให้ต่อเนื่องคืออย่างไร? นี่มองพัฒนาการของจิตตามหลักของอริยสัจกันโน่นเลยนะ.

๙๘.

ถาม

เวลาดูเวทนาทางกาย(ความเจ็บปวด) ก็คือเข้าไปดูเฉยๆเห็นอาการเจ็บ และรู้ด้วยว่าเป็นคนละส่วน ไม่แน่ใจว่าการเข้าไปดูมันเป็นการเพ่งจ้องไปรึเปล่า ฝึกดูกาย ดูจิต แล้วทำไมอารมณ์ยังแปรปรวน ไม่เหมือนตอนที่นั่งสมาธิสวดมนต์(แต่ไม่ได้ฝึกดูจิต) อารมณ์ตอนนั้นนิ่งกับปัญหาที่เข้ามาได้มากกว่า

ตอบ

จิตที่ทำงาน กับจิตที่ไม่ทำงานมันย่อมแตกต่างกันอยู่แล้ว , จิตที่ทำงานเป็นกับจิตที่ทำงานยังไม่เป็น สมาธิที่ได้ไม่ใช่ของแท้.....พยายามฝึกต่อไป รู้ตัวเบาๆ ทีละน้อย, ค่อยเป็นค่อยไปอย่าใจร้อน....ใจร้อนกิเลสเป็น ใจเย็นกิเลสตาย....เถอะน่า....ชิมแกงกว่าจะแน่ใจยังต้องอาศัยหลายช้อน...คำตอบอยู่ที่การสังเกต.

๙๗.

ถาม

ช่วงเวลาที่หนูไปปฏิบัติธรรมที่วัด หนูรู้สึกแปลกๆเวลาเดิน อย่างถ้าหนูเหนื่อยๆเ เดินจะไม่ไหวแล้ว พอเห็นพระเดินผ่าน ก็จะมีแรงขึ้นมาอีก หรือเวลาเดินแล้วมีคนเดินอยู่ข้างๆ ตามปกติของหนูก็จะเมื่อย เดินแล้วก็พักบ่อย แต่พอมองไปเจอคนข้างๆแล้ว มันทำให้คิดว่า “มาแข่งกัน ฉันต้องเดินทนกว่าฉันต้องปฏิบัติดีกว่า เข้มกว่าเธอ” มันผิดอย่างไรไหมคะ แล้วหนูควรจะจัดการกับความคิดประมาณนี้ยังไงดีคะ ถ้ามันเกิดขึ้นอีก เพราะหนูรู้สึกว่ามันจะเกิดขึ้นบ่อยๆค่ะ

ตอบ

ความรู้สึกฮึกเหิมอาจหาญในธรรม จำเป็นต้องให้เกิดมี ต้องใช้ในบางช่วงจังหวะเวลาของการปฏิบัติ , เร้าเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้เกิดศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญายิ่งๆ ขึ้นไป หากแม้น้อมนำเอาคุณธรรม คุณลักษณะของพระอรหันต์ (อรหันตานุสสติ) หรือคุณสมบัติคุณภาพของพระพุทธองค์ (พุทธานุสสติ) มาเป็นแรงจูงใจได้ก็ยิ่งจะเป็นการดี.

ถาม

แล้วอีกอย่าง สภาพจิตใจของหนูมันตึงๆเครียดๆค่ะ จะว่ากังวลเรื่องต่างๆก็ไม่น่าจะใช่ จะว่าเพราะสภาพแวดล้อมที่วัดก็ไม่น่าจะใช่ เพราะก่อนเข้าวัด หนูก็รู้สึกว่าจิตใจหนูยังเบิกบาน ยังไม่ตึงเครียด ยังไม่หนักๆอะไรเลยค่ะ หนูเลยไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่าหนูปฏิบัติถูกวิธีหรือเปล่า เพราะอ่านหนังสือของพระท่านต่างๆ ก็มีแต่บอกว่า ปฏิบัติธรรมแล้วจิตใจสงบ, สบาย ปฏิบัติธรรมแล้วมีปัญญาแก้ไขปัญหาโลกๆ วุ่นวายต่างๆได้ แต่หนูปฏิบัติแล้วหนูรู้สึกว่าหนูตึงๆเครียดๆจังค่ะ รบกวนหลวงตาแนะนำแนวปฏิบัติ ให้ตัวหนูด้วยนะคะ

ตอบ

สภาพจิตไม่ว่าจะอยู่ลักษณะไหน อารมณ์ใด ต้องมีปกติแห่งธรรมปรากฏในนั้นๆ ซื่อ,เฉย,โล่ง,เบาสบาย...ใจ ที่มีมลภาวะทั้งบวกและลบก็ใช่ว่าจะไม่มีดี หากใช้ถูกธรรม จังหวะเวลาชีวิต ก็จะเป็นผลเกื้อกูลต่อการพัฒนาจิต ใช้ผิดก็กลับเป็นอัตราตัวตน

รูปแบบอาจถูก แต่การวางจิตยังทำไม่เป็น , ยังทุกข์น้อยไป , ความทุกข์ยังไม่มีเสน่ห์เพียงพอต่อการรักทุกข์เกลียดสุข....ฝึกตัวรู้ให้อยู่กับฐาน, ปฏิบัติถูกหากความเพียรยังไม่มี ผลก็ไม่เกิด.

๙๖.

ถาม

ถ้าไม่สามารถนั่งสมาธิหลับตาแบบที่หลายสำนักสอน การเดินจงกรม และการสร้างจังหวะ ตามแนวทางของวัดป่าโสมพนัส จะทำให้เกิดสมาธิได้เช่นกันใช่หรือเปล่าเจ้าคะ

ตอบ

การฝึกจิตไม่ว่าจะด้วยอิริยาบถใดก็ตาม หากทำด้วยความเข้าใจถูกต้องจริงจังและจริงใจให้ต่อเนื่อง ย่อมได้รับผลตามหลักของไตรสิกขาเสมอ.

๙๕.

ถาม

ผมเป็นพระบวชใหม่ บวชเอาพรรษาแต่สนใจ เคยนั่งสมาธิมาตอนจิตก็ไม่สงบ แต่พอมาลองฝึกการเจริญสติของหลวงพ่อเทียน เลยมานั่งฝึกจังหวะ รู้สึกว่าสติเย็นมากและว่างเปล่า ผมฝึกจังหวะจนรู้ว่าว่าตัวเองนิ่งขึ้น แล้วผมมานั่งสมาธิ รู้สึกว่า สตินิ่งขึ้น หายใจละเอียดมากขึ้น กำหนดจิตไปที่ขาที่ปวด แล้วรู้สึกกว่า เหมือนตัวเองตัวใหญ่ขึ้นเต็มห้อง รู้สึกว่ามีสติอยู่กับลมหายใจ เห็นตัวง่วง แล้วเมื่อเห็น ผมก็ดึงมันออกมา อยากถามว่า ผมต้องแก้อะไรบ้าง อยากให้หลวงพ่อแนะแนวทางการปฏิบัติครับ

ตอบ

อย่าเผลอไปเน้นที่ตัวนิ่ง ให้เน้นที่พุทธะคือสติผู้รู้ รู้ตัวอยู่กับกายสังขารฐานกายส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั่วทั้งร่างกาย เพื่อประคองระลึกรู้ให้ต่อเนื่องมั่นคงเข้มแข็งจนผ่านเวทนา ผ่านปีติ ผ่านนิมิต ผ่านนิวรณ์ทุกตัวได้ ภายใต้จิตที่โปร่งโล่งเบาสบาย อิสระ และที่สำคัญคือพยายามทำให้จิตตื่นอยู่ทุกลมหายใจ/สติน้อยความตั้งใจสูง ศรัทธามาก ผู้ฝึกใหม่, มักจะปรากฏนิมิตเช่นนี้ หากลืมตาทำจะช่วยให้ปีติหรือนิมิตที่เกิดขึ้นหายไปได้เลย หรือหากจิตของผู้ใดเอนเอียงไปในศรัทธาจริตมากแม้นไม่หลับตา สติที่ปรากกฎขึ้นจะโน้มเอียงไปทางรู้ตัวทั่วพร้อมล้วน ๆ ไม่มีนิมิตเจือปน หากแม้นมีปีติเกิดขึ้นอยู่บ้างแต่ก็มักจะเป็นความตื่นตัว ความโล่งใจ ความสว่างภายในที่ค่อนข้างจะไหลลื่นไปสู่ความสุข และรู้ตัวทั่วพร้อมอย่างเดียวเสียเป็นส่วนมาก ซึ่งอาการเช่นนี้จะมีความโน้มเอียงไปสู่การเกิดปัญญาและอุเบกขาได้ง่าย ... จำง่าย ๆ ว่าการฝึกจิตนั้นเพื่อให้สติรู้เท่าทันความคิด จิตปรุงแต่งเกิดดับอย่างไรให้รู้เท่าทัน เท่านั้นพอ.

๙๔.

ถาม

โยมรู้สึกว่ามีความรู้สึกอีกความรู้สึกหนึ่งแทรกอยู่ในตัวโยม คืออะไรคะ

ตอบ

ความรู้สึกของคนเรามีอยู่ 2 แบบคือ วิชชา ได้แก่ ความรู้สึกตัวที่เป็นสติจนกระทั่งหากได้รับการพัฒนาก็จะกลายเป็นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นภาวะสู่ความรู้แจ้ง, อีกแบบหนึ่งคือ อวิชชา ได้แก่ ความไม่รู้สึกตัว ความหลงเข้าไปในความคิด เป็นสังขารปรุงแต่ง เป็นโกรธ โลภ หลง เป็นอุปาทานทุกข์ ... ถ้าโกรธ โลภ หลงได้รับการตอบสนอง ทางอารมณ์อย่างต่อเนื่องมันก็จะเจริญเติบโต กลายเป็นอุปาทานที่สุขุมนุ่มลึก เป็นอัตตาซ้อนอัตตาอยู่ภายใน หลงในอาการของมายาจิตคิดว่ามีตัวตนจนเข้าสู่ภาวะจิตหลอน หูแว่ว ซึมเศร้า หดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่าย เกียจคร้าน สำคัญมั่นหมายในตัวตนสูง ชอบเก็บตนอยู่คนเดียว ไม่อยากพูดคุยกับใคร แต่จะจมอยู่กับอารมณ์ที่เข้ามากอดเกี่ยวเหนี่ยวนำจิตของตัวเองที่นับวันจะทำให้จิตสิ้นอิสรภาพมากขึ้น ฯลฯ

วิธีแก้ไขก็เริ่มที่การแสวงหากัลยาณมิตร ฝึกสติให้จิตอยู่กับความรู้สึกตัวให้มาก วันหนึ่ง ๆ ให้อยู่กับความคิดน้อยที่สุด โมเมนตัมของชีวิตก็จะโน้มเอียงมาทางความว่างเปล่า เบาสบาย อิสรภาพ จากมายาขันธ์ได้โดยแท้ ... เรื่องอย่างนี้ขึ้นอยู่กับปัญญารู้เห็น ... อาจจะใช้เวลาช้านานหรือปัจจุบันทันด่วนก็ได้ แต่ที่แน่ ๆ ระยะเวลาไม่ใช่ตัวตัดสินทั้งหมด เป็นเพียงภาวะประกอบบ้างเล็กน้อยเท่านั้น.

๙๓.

ถาม

สมัยก่อนเวลาที่กลัว สติเค้าก็จะรู้ตอนที่กลัวขึ้นมาแล้ว แต่ตอนที่ภาวนาไปเรื่อยๆ จะเห็นเป็นกระบวนการ คือ ตาเห็นรูป แล้วจิตเค้าก็ปรุงแต่ง (วิญญาณ ทำให้เกิดนามรูป คือสังขาร) แล้วถึงค่อยเกิดเวทนา คือ ความกลัว (ไม่ชอบสิ่งที่เห็น) พอดูไปเรื่อยๆ เวลาที่จิตเค้าเริ่มจะปรุงแต่งก็จะรู้ ความกลัวก็เลยยังไม่ทันเกิด การรู้แบบนี้เป็นการรู้ที่ถูกต้องหรือเปล่าคะ แต่ว่ากระบวนการที่เห็นเค้าเกิดดับไวมาก

ตอบ

รู้ถูกแล้ว, รู้ทุกข์แล้วปล่อยวางนั่นแหละคือการรู้ธรรมในอริยสัจ ... สังเกตรู้ดูพฤติกรรมมายาของจิตเช่นนั้นไปเรื่อย ๆ.

๙๒.

ถาม

เคยได้ยินมาว่ากระเทยหรือพวกรักร่วมเพศไม่สามารถบรรลุธรรมได้ เป็นความจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงแล้วเหตุใดที่ทำให้กลุ่มคนพวกนี้ไม่สามารถบรรลุธรรมได้เหมือนเพศชาย/หญิง

ตอบ

ละในสิ่งที่มี วางในสิ่งที่เป็น, จิตของผู้ฝึกเพื่อเข้าสู่ความเป็นพุทธะ ย่อมต้องละความสำคัญมั่นหมายในกายในจิต ในรูปในนาม ในสมมุติรูปกาย ละความสำคัญมั่นหมายในมายาขันธ์ จิตผู้เข้าถึงไม่มีหญิง-ชาย-กระเทย มีแต่สติและอุเบกขาธรรมเท่านั้น.

๙๑.

ถาม

เมื่อปฏิบัติแล้วเป็นเวลานานพอสมควร แต่ทำไมการปฏิบัติของเรามีความรู้สึกว่าไม่ก้าวหน้า ทำให้รู้สึกท้อแท้และเป็นความขี้เกียจปฏิบัติไปโดยปริยาย จะมีวิธีการใดบ้างคะที่จะทำให้มีกำลังในการปฏิบัติอีก และถ้าปฏิบัติอีกมีโอกาสจะก้าวหน้าไหมคะ

ตอบ

ปฏิบัติไม่จริงจัง ทำไม่เด็ดขาด ไร้ความต่อเนื่อง ผลก็จึงไม่เกิดปัญญาทันตาเห็น หรือไม่ได้รับประโยชน์ของการฝึกอย่างชัดแจ้งต่างเก่าล่วงภาวะเดิม ... ฝึกหัดต่อยไฟท์บังคับบ่อย ๆ สิ...ก็มี 2 อย่างให้เลือกคือ แพ้กับชนะ หรือก้าวไปข้างหน้าสู่ความเป็นแชมป์ หรือไม่ก็ถูกกิเลสถล่มถลุงยับชักตาตั้งตกเวทีไปเลยก็มี.

ไม่มีความคิดเห็น: