13 ธันวาคม 2555

qa 191-200

๒๐๐.

ถาม

การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวต่างจากการนั่งวิปัสสนาอย่างไรคะอย่างไหนได้ประโยชน์มากกว่ากันเพราะถนัดนั่งกำหนดรู้มากกว่าค่ะ

ตอบ

รูปแบบคือเครื่องมือ จิตคือผู้เดินทาง หนทางคือความว่าง ความรู้ตื่นเบิกบาน อุปสรรคคือนิวรณ์ห้า อุปาทานในขันธ์ห้า... เป้าหมายคือความหลุดพ้นจากอาสวะกิเลส... ใช้อิริยาบถไหนก็ได้ขอให้ใจมันไกลกิเลส ดับกิเลสได้สิ้นเชิง.

๑๙๙.

ถาม

ถ้าระหว่างวันที่ไมได้ทำรูปแบบแต่พอรู้สึก จะคอยบริกรรม รู้สึก ๆๆๆๆไปด้วยได้ไหมคะ จะได้เหมือนคอยย้ำเตือนไม่ให้หลงไป หรือจะภาวนาพุทโธ ดีกว่ากันคะที่จะช่วยให้สติเจริญขึ้นๆ

ตอบ

เอาสติมาแอบดูจิตเลยจะดีกว่า... ดูกาย เวทนา จิต อารมณ์... ดูกายไม่ชัดก็ดูจิต ดูอารมณ์พอใจไม่พอใจหรือเฉยๆเลยก็ได้นี่ จะไปอยู่กับคำบริกรรมทำไม.

๑๙๘.

ถาม

ตอนนี้หนูเข้าใจว่ามนุษย์เราประกอบด้วย กาย(รูป) กองดิน น้ำ ไฟ ลม และจิต(นาม) เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ(ตัวรู้) เมื่อเราลืมตาอ้าปากได้ เราก็ได้สัญชาติญาณความเป็นมนุษย์มาคือ ขันธ์ 5ทำงานร่วมกับตัณหา อุปทาน เพราะความไม่รู้(อวิชชา) จนยึดว่าเป็นตัวกูของกู เกิดความรู้สึกทุกข์ สุข เฉย บนความโลภ โกรธ หลง หากเราต้องการออกจากวัฎสงสาร คือ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จะได้มีสติ(ตัวตามรู้) เกิดญาณทัศนะ ปัญญาญาณ มารู้มาเข้าใจอริยสัจสี่ และเจริญมรรคมีองค์แปด (ทางสายกลาง)หากมนุษย์ไม่รู้เรื่องเหล่านี้ เขาจะสามารถออกจากวัฎสงสารได้ไหมคะ หรือคนที่นับถือศาสนาอื่นจะมีโอกาสได้เห็นความจริงอันประเสริฐเหล่านี้ไหมคะ แล้วชาวพุทธที่ไม่มีโอกาสมาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ มันเกิดจากเหตุปัจจัยอื่นอีกไหมคะนอกจากกรรมและเจตนาของมนุษย์ทั้งหลาย ขอพระอาจารย์ชี้แจงข้อสงสัยเหล่านี้ด้วยค่ะ

ตอบ

ใช่, ต้องเจริญสติปัฏฐาน 4 อย่างเดียวเท่านั้น คนไม่รู้เรื่องนี้ก็ออกจากทุกข์ไม่ได้, คนผู้นับถือศาสนาอื่นหากได้ฝึกเจริญสติอย่างถูกต้องก็ต้องรู้, แม้หากชาวพุทธไม่ปฏิบัติไม่ทำก็ไม่รู้, ปัจจัยอื่นที่ทำให้รู้แจ้งนอกจากมีสติระลึกรู้ตามหลักสติปัฏฐานแล้วไม่มี.

๑๙๗.

ถาม

โยมว่าโยมรู้ตัวเป็นเวลาเดิน ถ้าแค่รู้มันก็เบาๆ เหมือนไม่ได้ทำอะไรเท่าไร แต่ถูกสอนมาว่าพอรู้แล้วต้องให้เห็นด้วย ดังนั้นเวลาปฎิบัติโดยท่านั่งโยมใช้การขยี้มือเบาๆพอรู้ตัวแล้วโยมก็เอาสติไปดูที่มือให้เห็นว่ามันขยับเข้าขยับออก ไม่ถึงนาทีโยมก็ตัวแข็งได้แล้ว ทีนี้พอตัวแข็งก็ไม่อยากขยับมือแล้ว มันจะไปดูแต่อาการเคลื่อนไหวของร่างกายตามการหายใจเข้าออก ก็ไม่ได้ปวดหัวนะคะหลวงตา แต่มันตัวแข็ง วันก่อนโยมได้เพิ่งฟังเทปหลวงพ่อพุทธยานันทภิขุ ท่านเน้นว่าให้สบายๆ โยมว่าตัวแข็งแบบโยมมันไม่นาจะใช่สบายๆ นะคะ กราบขอความกรุณาจากหลวงตาสงเคราะห์โยมด้วยนะคะว่าอย่างที่โยมทำเนี่ยมันเป็นการเพ่ง เป็นการตั้งใจเห็นร่างกายเกินไป หรือว่าที่ทำเนี่ยถูกแล้วคะ

ตอบ

ใช้อิริยาบถเดินจรงกรม รู้สึกตัวกับการเคลื่อนไหวอิริยาบถใหญ่ให้เยอะๆดูสิ... ระลึกรู้กับการจ้องไม่เหมือนกันนะ รู้เท่าที่มันเป็น เห็นเท่าที่มันเกิด ถ้าไม่มีอะไรเกิดก็ให้รู้อยู่กับปัจจุบันอิริยาบถเฉยๆ เห็นกายก็คือเห็นอาการเวทนาที่เกิดขึ้น เช่น เจ็บ ปวด เมื่อย หิว ง่วง ฯลฯ เห็นว่านี่เป็นธรรมชาติที่เกิดดับ ดูธรรมชาติมันทำงาน หากสติสมาธิดีหน่อยก็อาจดูลึกถึงเหตุปัจจัยการเกิด แล้วก็แก้หรือถอน ละเหตุปัจจัยทุกข์มันก็ดับ... เห็นจิตก็คือเห็นจิตที่มันคิดมันปรุงแต่ง มันเฉย มันปล่อยวาง มันเป็นสมาธิไม่เป็นสมาธิ หากมันยังไม่วางก็ฝึกสติหัดวางไปเรื่อยๆจนเกิดความชำนาญ... ค่อยเป็นค่อยไป อย่าทำด้วยความอยากนะจ๊ะ...

ถาม

ผมได้ฝึกการทำสมาธิมาได้ระยะหนึ่ง ผมมีปัญหาอยากถามหลวงตา แยกตามอาการสองข้อครับ

1.จากการเดินจงกรมคือผมจะกำหนดจิตไว้ที่หน้าผากแล้วบริกรรมพุทโธ ขณะที่ผมเพ่งจิตไปที่หน้าผากมากๆประมาณ70-80%ผมจะเกิดอาการหน่วงๆหนึบๆที่หน้าผาก ถ้าเพ่งไปนานๆอาการนี้ก็ตั้งอยู่นาน พอมีความคิดอย่างอื่นเข้ามาแทรกหรือแบ่งความสนใจไปที่เท้า ร่างกายส่วนอื่น อาการนี้ก็จะค่อยๆจางไป พอรวบรวมสมาธิเพ่งมาที่หน้าผากอีกก็เป็นเหมือนเดิม และมักเกิดความง่วงมากๆตามมาอีกครับ อยากทราบว่าเป็นที่อะไร จะแก้ไขได้อย่างไรครับ

ตอบ

เป้าหมายการฝึกสติคือ ต้องการพัฒนาประสิทธิภาพให้มีความรวดเร็ว ว่องไว แม่นยำ ทำลายความคิดปรุงแต่งอันเป็นเป้าเล็ก และสังโยชน์ที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตอันเป็นเป้าใหญ่... ไม่ต้องกดเกร็งเพ่งจ้องอะไรให้มากเป็นพิเศษ รู้กายกับจิต 50/50 ก็ได้ และการฝึกฝนก็ไม่ต้องรีบร้อน หากอึดอัดขัดเคืองต้องวางจิตใหม่ รู้อะไรตรงไหนก็ได้ในอาการ 32 ของกายนี้ เพียงสังเกตจิตสัก 5-10 เปอร์เซ็นก็พอ เรียกว่าแค่ชำเลืองดูก็ได้แล้ว... สมาธินั้นเขาเอาไว้เพ่งกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ ดูจนมันดับ อีกวิธีหนึ่งคือไม่เพ่งดูจิต แต่รู้อยู่กับกายสักพักมันก็จะดับหายไปเอง เขาให้เห็นธรรมชาติเกิดดับของจิตต่างหากเล่า เป็นผู้ดูอาการของธาตุขันธ์เท่านั้น ไม่ต้องรวบรวมสมาธิอะไร ฝึกสติประคองจิตไม่ให้ไหลไปอยู่ในความคิด หรือฝึกออกจากความคิดทุกครั้งที่มันเกิดก็พอแล้ว... ฝึกเช่นนี้บ่อยๆจะเห็นอริยสัจปรากฏ เห็นไตรลักษณ์ปรากฏ สัมมาสมาธิก็จะเกิดโดยธรรมชาติ... สมถะมากไปจะขาดความคล่องตัว จิตขี้เกียจ นิวรณ์แทรกซึมเข้าง่าย เพราะปัญญา “การเห็น” ไม่เกิด เหตุเพราะเราเน้นความนิ่งสงบซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงเอาเสียเลย.

ถาม

2.ตอนนั่งสมาธิผมก็พยายามกำหนดจิตไว้ที่หน้าผากและบริกรรมพุทโธ แต่อาการหน่วงๆหนึบเกิดขึ้นไม่มากเหมือนตอนเดินจงกรม แต่ที่เป็นปัญหากับผมมากๆคือ 9ใน10ที่นั่งสมาธิในขณะที่จิตเริ่มนิ่งคำบริกรรมเริ่มขาดหายผมมักขาดสติจะเผลอหลับ ส่วนใน1ครั้งนั้นในขณะที่คำบริกรรมเริ่มขาดหายนั้น เหมือนสติจะขาดไปแวบหนึ่งเหมือนกันแต่ไม่ใช่การหลับ แต่เป็นการรู้ตัวแบบทั้งหมดทั้งร่างกายคือจิตไม่ได้จับอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งแล้วเป็นการรู้ตัวแบบว่ารู้เฉยๆ เป็นแบบนี้อยู่พักหนึ่ง พอมีความคิดอื่นเข้ามาแทรกก็ค่อยๆจางออกไปเหมือนกันครับ อยากทราบว่าอาการนี้คืออะไรจะแก้ไขได้อย่างไรครับ

ตอบ

ก็ให้ทำได้แบบตอนท้ายๆที่เล่ามานี่แหละ.

๑๙๕.

ถาม

หนูได้ลองอ่านคำถามและคำบอกเล่าจากเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมแล้วก็คำตอบของหลวงตาทำให้หนูอยากลุกขึ้นมาตั้งใจเจริญสติจริงๆ อยากรู้ว่าคนอื่นที่เขาเจอปิติทำไมเขาถึงยินดีนัก

ตอบ

ปีติที่เกิดจากการเจริญสัมมาสติ อานุภาพจะไม่เหมือนอาการที่เกิดกับสมถะ เพราะนี่จะเป็นภาวะของความอิ่มใจ โล่งใจ สบายใจ เหตุเพราะเกิดตัวรู้ได้ปัญญาเห็นแจ้ง ดับความง่วงความปรุงแต่งฟุ้งซ่าน ปฏิฆะหงุดหงิดติดอารมณ์ ความวิตกกังวลลังเลสงสัยไม่แน่ใจในสติสมาธิปัญญาว่าเป็นหนทางวิถีมรรคนำสู่การดับทุกข์ได้อย่างไร ทุกข์ดับ ทุกข์หายมีจริงหรือไม่ คือสภาพเช่นไร ถ้าจับได้ มั่นใจในศักยภาพของสติ นั่นคือ “การได้ดวงตาเห็นธรรม” ทำได้ใครเล่าจะไม่ยินดี เพราะนี่คืออริยทรัพย์กันเลยทีเดียวเชียวแหละ.

๑๙๔.

ถาม

ทุกครั้งที่มีเรื่องสุขและทุกข์ สิ่งแรกที่นึกถึงคือคำสอนของหลวงตา แล้วทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปได้อย่างสบายมากค่ะ

ตอบ

ไม่เปิดประตูต้อนรับอาคันตุกะกิเลสใดๆ ใจเราไม่เศร้าหมองหรอก แต่เดี๋ยวเถอะวันไหนที่กิเลสแวะได้ ไฟแบตอ่อน อย่าลืมมานอนแวะชาร์จใจทบทวนอารมณ์ปฎิบัติใหม่กันบ้างเด้อ.

๑๙๓.

ถาม

ในระหว่างที่ได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าโสมพนัสเป็นเวลา 7 วันด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจนั้น ไม่ว่าจะขณะทำความเพียรหรือระหว่างวัน จะได้ยินเสียงพระสวดอยู่ตลอดเวลายกเว้นแต่พียงเวลาทำวัตรเช้าและเย็นเท่านั้น ทำให้เข้าใจว่าเป็นเสียงสวดของพระที่อยู่วัดใกล้เคียงกัน แต่เมื่อครั้นได้กลับมากรุงเทพได้สอบถามผู้ที่ได้ไปปฏิบัติด้วยกันว่าได้ยินเหมือนหรือไม่กลับได้คำตอบว่าไม่เห็นได้ยินเลย ก็เลยทำให้เกิดความสงสัยขึ้นว่าเป็นเพราะเหตุใดถึงได้ยินเช่นนั้นคะ

ตอบ

ประทับใจเรื่องใดๆ ขณะทำสมาธิหากอุปทานยังไม่ถูกอ้างออก ก็จะแปลงตัวเองเข้ามาอยู่ในรูปของนิมิต หากยิ่งเราหลงเพลินไปกับสิ่งนั่น มันก็ยิ่งจะดูเหมือนจริงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นอัตตาตัวตนส่งผลเป็นอธิโมกข์คือ งมงาย (ศรัทธาในความไม่จริง)ไม่ใช่ปัญญา เหตุเพราะตัวสติไม่บริสุทธิ์ ยังไม่เป็นสัมมาสติ อาการเช่นนี้ทางโลกเขาเรียกว่า หูแว่ว หากเห็นว่าเกิดอาการผิดปกติอย่างไรในขณะปฎิบัติ ให้ทบทวนรับคำชี้แจงจากพระพี่เลี้ยงก่อนเลิกได้ทันที เหตุการณ์นี้ก็ไม่มีอะไร เพียงแต่มันทำให้เราเสียเวลาเสียโอกาสเท่านั้น.

๑๙๒.

ถาม

ในขณะปฏิบัติธรรมหนูไม่รู้ว่าหนูใจลอยจนไม่รู้สึกตัว หรือหนูปฏิบัติเข้าถึง ทางสว่างกันแน่คะ ความรู้สึกเหมือนไม่ได้คิดอะไรรู้สึกว่างเปล่าแต่หนูกลัวว่าสิ่งนั่นเป็นแค่อุปาทานของหนูค่ะ

ตอบ

หนูได้สัมผัสความว่างของจิตที่ปราศจากนิวรณ์ครอบงำ เป็นจุดของการได้อารมณ์ปฎิบัติ เกิดขึ้นได้เพราะเรามีสติตัดความคิดความง่วงได้ มันว่างจากทุกข์ได้ชั่วขณะแต่มันก็ยังติดตัวดีใจ ตัวสงสัย ตัวเสียดายไม่ได้ สิ่งเหล่านี้แหละคืออุปาทาน หนูต้องทำให้ว่างจากสิ่งเหล่านี้ให้ได้ด้วย

๑๙๑.

ถาม

หนูได้เจริญสติตามแนวเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียน (ต่อเนื่องตั้งแต่ตค.52จนถึงปัจจุบัน ) แต่ก็ระลึกเสมอว่าถ้าทำงานก็ให้มีสติระลึกรู้ มีปฏิบัติขณะรอรถ-บนรถประจำทาง โดยการพลิกมือและคว่ำมือ 2-3 นาที ก็รู้สึกดี แล้วก็เหมือนโชคดี งานที่ทำอยู่ในขณะนี้ ณ ตรงนี้ (บุคคลหรือผู้ที่เคยมาทำงานตรงจุดที่หนูทำอยู่ทุกคนที่เคยมาทำก่อนหน้านี้มีปัญหาหมด แต่พอหนูได้มาทำ ก็รู้สึกว่าแปลกใจเหมือนกันว่าอุปสรรคต่างๆก็เคลียร์และผ่านพ้นไปได้ดี ไม่ทราบมีผลเกี่ยวกับการเจริญสติใช่ไหมคะ

ตอบ

เมื่อเราดึงใจมาอยู่กับตัวเองก็จะเกิดปัญญา เห็นปัญญาที่เกิดกับจิตเรา แก้ไขได้ ใจเราก็จะดีมีพลัง เห็นปัญหาเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาเท่านั้นไม่ใช่อุปสรรค สติปัญญาเกิดการปฏิสัมพันธ์ การบริหารจัดการทั้งวัตถุ สิ่งแวดล้อม บุคคลผู้ร่วมงานล้วนอยู่ในกรอบของเมตตาธรรมด้วยกันทั้งนั้น เราสร้างเหตุปัจจัยถูก ธรรมะจะจัดสรรตัวของมันเอง แต่ก็อย่าได้ประมาท เพราะจิตมนุษย์นี้เปลี่ยนแปลง เป็นตัวก่อเกิดปัญหาทั้งหมด ที่สำคัญคือไม่เข้าใจทุกขัง ไม่เข้าถึงอนัตตา ไม่เพียรแก้ปัญหา ปัญญาจะมีได้อย่างไร.

ไม่มีความคิดเห็น: