13 ธันวาคม 2555

qa 21-30

๓๐.

ถาม

ดิฉันทำงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ให้การปรึกษาหญิงสาวหลายๆวัย มีคำถามหนึ่งที่ผู้รับบริการส่วนใหญ่มักถามดิฉันว่า การที่พวกเขาได้ถูกชายคนรักพรากพรมจรรย์ไป ต่อมาก็ทิ้งขว้างไม่รับผิดชอบ ทำให้ได้รับความทุกข์ใจมาโดยตลอด โดยที่ไม่สามารถลืมเรื่องราวที่ผ่านมาในอดีตได้ บางครั้งโกรธบางครั้งก็แค้นชายผู้นั้น แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ การเข้าวัดฟังธรรมก็ช่วยได้ช่วงเวลาหนึ่ง ในใจก็ยังถามว่าแล้วสิ่งที่ชายเหล่านั้นทำเขาจะได้รับกรรมอย่างไรบ้าง ดิฉันเองก็ยังตอบคำถามนี้ไม่ได้

ตอบ

ผลกรรมที่เขาจะได้รับคือ จิตของเขาจะมีการเพิ่มปริมาณราคจริตที่สูงขึ้นเรื่อยๆ, จิตไร้อิสระ, วันๆจิตหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่แต่อารมณ์เช่นนั้น, ขาดความไว้วางใจเคารพนับถือจากบุคคลอื่น, การทำร้ายผู้อื่นบางครั้งภัยอาจจะกลับกรรมเป็นภัยเข้ามาให้โทษกับตัวก็ได้, ไม่มีสมาธิในการทำงาน, ไม่มีสมาธิจิตในการทำกรรมฐาน, เขาจะเสื่อมจากประโยชน์อันยิ่งที่มนุษย์จะพึงได้พึงถึง, จะได้ก็แต่การสนองตอบอารมณ์สัญชาตญาณตามประสาสัตว์เดรัจฉานไปเป็นครั้งคราวเท่านั้น, อารมณ์เช่นนี้จะวนเวียนเกิดดับอยู่ในจิตแล้วๆเล่าๆจนกว่าเขาจะตายจากโลกนี้ไป หรือพยายามเลิกละ หลีกเร้น อดทน อดกลั้น เรียนรู้ ทำลาย ประหาร(ปหาน)กิเลสตัวนี้ลงได้, จิตจึงจะไม่ต้องมารับผลกรรมอันนั้น
การดำเนินชีวิตของสัตว์มนุษย์จะลื่นไหลตามสัญชาตญาณ, ผลของมันก็มีอยู่สองอย่าง คือ ความพอใจและความไม่พอใจเท่านั้นแหละ, สมหวังกับผิดหวัง, ได้ใจกับเสียใจ, มันเป็นของคู่กันเช่นนี้เสมอ, เป็นสัจจะของโลกียชน, หากคิดจะเสี่ยงสร้างกรรมก็ต้องเตรียมรับผลที่จะตามมาสองอย่างที่กล่าวนั้นไว้เถอะ, วิบากกรรมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยเสมอ,
แต่หากฝึกสติดีๆ คมๆ กล้าๆ ก็จะสามารถตัดเหตุปัจจัยที่จะก่อให้เกิดทุกข์เสียได้ในระหว่าง, มีทุกข์เกิดขี้นได้ตรงไหน ก็ตัดได้ตรงนั้น, มนุษย์ปุถุชนคนที่ยังไม่เคยเรียนรู้กรรมฐาน ไม่ได้เรียนรู้วิธีควบคุมอารมณ์ การปล่อยวางจิต การสลัดทิ้งความคิด การละลายอุปาทานเป็น เช่นนั้นแล้วก็คงไม่มีใครหรอกที่จะใช้ชีวิตอย่างไม่ผิดพลาด, แต่ควรจะมองความผิดนั้นเป็นครู เป็นแบบเรียน เป็นค่าเล่าเรียนให้กับความเป็นอยู่ในโลกของความโง่ความอยาก, มนุษย์ทุกรูปทุกนามอยู่ด้วยตัณหากับอวิชชาด้วยกันทั้งนั้น หากจะเลือกคบใคร ภาษิตของพระพุทธเจ้ายังใช้ได้เสมอ นิสสัมมะ กรณัง เสยโย ใคร่ครวญดีๆแล้วจึงค่อยคบ อเสวนา จะพาลานัง ไม่คบคนพาลคนผู้มีจิตอ่อนไหวในอารมณ์, ปฏิสังขาโยฯระวังสำรวมไม่หลงอารมณ์ขณะเสพคุ้นคบหาเสมอ
การไปวัด จุดประสงค์ก็คือไปหาจิตแพทย์นั่นเอง, ไปวัดอุณหภูมิทางอารมณ์ของเรา, พระวิปัสสนาท่านจะมีการสอบอารมณ์ มีปรอทวัดไข้มีการวินิจฉัยหรือดูคนออกว่าเป็นโรคไข้ใจสูงต่ำแค่ไหน ถ้าเจออาการ แพทย์ที่ดีเขาก็จะรักษา แพทย์เก๊ก็จะไม่นำพา ยกผลประโยชน์ให้เป็นเรื่องของบาปกรรมไปนู่นเลย, จงไปเพื่อทำการรักษา จะให้คำปรึกษา กินยา ฉีดยา หรือผ่าตัด แล้วแต่การวินิจฉัยของแพทย์ไม่ใช่เราตัดสินเอาเอง โดยมองว่าวัดเป็นเสมือนบ่อชุบทอง ได้ไปวัดแล้วทุกข์มันจะหายไป, การฝึกวิปัสสนาคือขั้นตอนกระบวนการรักษาโรคของพระพุทธเจ้า
ปัญหาของคุณไม่ได้มีอะไร คุณไม่ได้สูญเสียอะไร และก็ไม่มีใครได้อะไร หากจะว่าไปแล้วมนุษย์เรามีภาวะกายและจิตเป็นศูนย์เสมอกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้ามองว่าเป็นการสูญเสีย มันก็คือการเสียศูนย์นั่นเอง เสียความปกติจิต จิตเป็นบวกเป็นลบเพราะเราไปตีค่าให้ราคากับอุปาทานของรูปของนามเกินจริงหรือเปล่า กลับมาดูแลใจให้เป็นศูนย์ ตั้งมั่นในสมาธิ ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา จะดีกว่าการไปทอดอาลัยตายอยาก ครุ่นคิดติดอารมณ์อยู่กับอดีต อย่ามัวรอสะใจกับผลกรรมที่คนอื่นจะได้รับหรือทุกข์ระทมกับความตรอมตรมของตนเองอยู่เลย
คนเราเริ่มต้นใหม่ได้ทุกขณะ เส้นทางไหนที่ลำบากเดินยาก ก็ใช้เส้นอื่นก็ได้โดยกลับมาเริ่มที่ความปกติของใจเรานี่แหละ...
คุณเคยเห็นรถที่วิ่งขึ้นเนินสูงๆแล้วมันไปไม่ได้ มันอาจแฉลบลงข้างทางหรือไหลลื่นกลับมาตั้งลำเข้าเกียร์ใหม่แล้วพุ่งขึ้นไปอีกครั้งก็ยังได้ เราเป็นมนุษย์แท้ๆดันไปจมอยู่กับอารมณ์ที่ไม่มีตัวตน เป็นอนัตตาเช่นนั้น ก็ไม่สมควรที่จะไปเป็นนักแข่งนักขับนาวาชีวิตนี้ไปได้อย่างสนุกสนานราบรื่นปลอดภัย ไม่รู้จักการแก้ไขเครื่องยนต์ตนเองเวลามันเกิดการขัดข้อง คุณอย่ามัวไปหลงเพลินสนุกกับการขับอย่างเดียวสิ หัดเรียนรู้ความเป็นช่างเครื่องให้กับตัวเองบ้าง แล้วคุณจะไม่ต้องไปงึดไปง้อใครเวลาใจคุณเสีย.

๒๙.

ถาม

กระทู้สายตรงหลวงตา ผมมีความเห็นว่า หากท่านผู้ใดสนใจที่จะถาม และต้องการรอคำตอบ ผมเสนอว่าให้มีการตอบเดือนละ 1-2 ครั้งดีไม่ครับ เพราะว่าบางคนก็รอแต่อยู่ไกลวัดมากเพราะว่าบุญน้อยไกลครูบาอาจารย์
หากคำถามนั้น ไม่ว่าอ่านแล้ว ดูจะโง่เขลาเบาปัญญาก็ตาม ก็ลองตอบดูเพื่อให้มีความรู้ หรือจะได้มีปัญญามากขึ้น หากไม่มีการตอบเลย ก็แล้วแต่จะพิจารณา เพราะว่า ย้อนหลังไปถึงครูบาอาจารย์ หลวงพ่อเทียนแล้ว ท่านมีความเพียรในการที่จะให้ศิษย์มีความรู้เพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย หลวงพ่อ ท่านตื่นก่อน นอนทีหลังเสมอ
หากคำขอนี้ จิตใจของข้าพเจ้ามีอกุศลต่อหลวงตาแล้ว ขอให้หลวงตาอโหสิกรรมด้วย เพราะว่าปัญญาของผมมันไม่มีเลย ก็จะขอพึ่งเอาสายหลวงพ่อเทียนเป็นทางนำพาให้พ้นทุกข์
ช่วยกันครับ เวปอื่นเขามีการเคลื่อนไหวทุกวัน เพราะสโลแกน ของเรา ทุกอย่างต้องเคลื่อนไหว ไม่ว่ากายหรือใจ แต่เปิดมาทีไร นิ่งเงียบทุกที แต่เข้ามาดูแล้วใจเคลื่อนไหวทุกที

ตอบ

พยายามทำความเข้าใจถึงคำสอนหลวงพ่อเทียนให้ชัด มองให้ลึกถึงอรรถ แล้วจะเห็นธรรมได้ง่าย อย่างคำสอนที่กล่าวไว้ว่า...
วิธีการเจริญสติแบบนี้เน้นที่การเคลื่อนไหว อันนี้หมายถึง ท่านให้มีสติระลึกรู้อยู่กับอาการเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวเท่าที่จำเป็น เห็นเท่าที่มันเกิด ไม่ใช่เคลื่อนไหวไปมาด้วยอำนาจความคิดปรุงแต่ง ไม่ใช่พยายามจะสร้างปรากฏการณ์ของอาการกายเคลื่อนไหวไปมาโดยไม่จำเป็น
สรุปคือ ท่านให้ดูสังขารเคลื่อนไหวปรุงแต่ง ให้เห็นสังขารเกิดดับ ไม่ใช่สร้างสังขารเสียเอง.

๒๘.

ถาม

จิตเป็นนามธรรมไม่มีตัวตน จริงๆแล้วไม่มีใครเห็นจิตได้ ที่เราว่าเห็นจิตกันนั้น จริงๆแล้วคือต้องรู้สึกไปที่เจตสิกรู้สึกไปที่ความว่างและรู้สึกไปที่กาย ใช่หรือไม่ จะผิดหรือถูกอย่างไร ขอความกรุณาช่วยให้ความรู้ต่อไปด้วย

ตอบ

ใช้รูปดูรูป ใช้นามดูนาม... ตาเนื้อดูได้แต่ภายนอก, จิตคือสภาพธรรมชาติของธรรมชนิดหนึ่งที่อยู่ในกายเนื้อก้อนนี้ มีลักษณะว่าง (ขันธ์ว่าง) แต่ก็มีคุณสมบัติทรงอยู่ รับ จำ คิด รู้อารมณ์ (ขันธ์๕) สติ โลกัสมึ ชาคโร สติเป็นธรรมเครื่องปลุกให้ตื่นจากโลก สติเป็นตาทิพย์ใช้ดูสภาพธรรมที่กล่าวถึงนั้น, บางครั้งมันก็ว่าง บางครั้งมันก็ทำหน้าที่ทีละขันธ์ ปรากฏทีละอาการ หรือบางครั้งก็ทำหน้าที่ขันธ์๕ ครบเลย, จิตเป็นสภาพที่ทรงอยู่ แต่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือตัวเจตสิกที่เกิดกับจิต ทำให้รูปทรงของจิตเดิมแท้แปรเปลี่ยนไป อุปาทานจะเป็นตัวปรุงแต่งเจตสิกให้มีความวิจิตรพิสดารยิ่งๆขึ้นไป

การเห็นจิตด้วยญาณปัญญายิ่งจะมีความแจ่มแจ้งกว่าการเห็นกายด้วยตาเนื้อ ผู้ประสงค์จะฝึกรู้ฝึกเห็นหรือต้องการทำให้ได้ทำให้เป็น จงดูตามหลักของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานว่าด้วยการเห็นจิตในจิต ๑๖ ลักษณะ, ในวิธีการเคลื่อนไหวก็คือรู้ว่าจิตคิดไม่คิด รู้อย่างเดียวก็พอ.

๒๗.

ถาม

พอรู้สึกตัวตอนตื่นขึ้นมาตอนเช้าเห็นความคิดเริ่มก่อตัว ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะคิดเรื่องอะไร ความรู้สึกเบื่อและเป็นทุกข์จะเกิดขึ้นมาแทรกซ้อนทันที ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ขอคำอธิบายด้วยค่ะ

ตอบ

สติมันไวขึ้น แล่นเร็วขึ้น สติเริ่มทำหน้าที่เป็นสรณะภาวะโดยตรง สติเริ่มเป็นเอง มันเริ่มทำหน้าที่เป็นประโยชน์สูงสุดให้กับชีวิต มันจะเริ่มเข้าไปทำหน้าที่อุปการะจิตโดยตรง ที่ผู้เรียนนักธรรมตรีชอบท่องจำกันจนขึ้นปากถึงหน้าที่ของสติที่เป็นปรมัตถ์ว่า ธรรมมีอุปการะมาก คือ สติสัมปชัญญะ, ตัวจริงเสียงจริงของมันนั้นจะทำงานได้แม้จะไม่ตั้งใจรู้ รู้เห็นได้แม้ในยามใกล้หลับหรือก่อนตื่น, ต่อไปองค์ธรรมนี้จะเฝ้ารักษาจิตได้แม้ยามหลับหรือตื่น... การเห็นชนิดที่มันเป็นเองเช่นนี้จะเป็นความซาบซึ้ง ในภาวะที่ลึกซึ้งที่น้อยคนนักจะทำได้ และน้อยคนที่จะรู้เห็นอาการเช่นนี้ได้อย่างต่อเนื่องเป็นนิสัย...ใส่ใจเฝ้าดูมันไปเรื่อยๆ... ต่อแต่นี้ไปให้ระวังอารมณ์ความสงบที่ปนเปื้อนด้วยความง่วงที่จะเข้ามามีบทบาทในปริมาณสูงยิ่งจนกระทั่งเผลอหลับโดยไม่รู้สึกตัว เพราะเวลาทำแล้วจะได้อารมณ์ง่ายขึ้นแต่จิตมักจะไหลเข้าไปในความสงบ จะเป็นคนที่หลับง่าย ซึมลึกมากๆ หากไม่มีโยนิโสพอจะเป็นคนหงุดหงิดเพราะติดสงบ... เดินหน้าต่อไป หนทางยังยาวไกลหลายสิบลี้

...ผู้ที่ต้องการได้ไฟต้องไม่ไปมัวลูบคลำอยู่ที่หลอดไฟ แต่ต้องคลำหาสวิทซ์ให้เจอต่างหาก เปิดสวิทซ์ ไฟที่หลอดจะปรากฏเอง ฉันใดก็ดีอย่าไปมัวยุ่งปรุงแต่งหาความสงบจากจิต อย่าหลงไปทำอะไรกับจิตเป็นอันขาดเชียว แต่ให้มาอยู่กับสติความรู้ตัว รู้เห็นเฉยๆ ไม่ต้องเอาสติไปเพ่งไปจ้องที่จิต รู้อย่างเป็นธรรมชาติ อย่าไปปรุงแต่งตัวรู้ อย่าไปแสวงหาความรู้ อย่าติดยึดในความรู้ที่ได้ ตัวรู้ตั้งมั่นแต่สิ่งที่ถูกรู้นั้นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปัญญาเห็นไตรลักษณ์พร้อมๆกับสังขารทั้งหลายปรากฏ เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี จนกระทั่งเกิดญาณทัศนะรวมเป็นหนึ่ง เห็นที่ไหน ดับที่นั่น เกิดตรงไหน ดับตรงนั้น นั่นแหละธรรมะแท้, รู้เห็นบ่อยๆ จิตจะถอยหลุดออกมาหยุดอยู่ ณ จุดเบื่อโลก หน่ายสังขารอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ตรงนี้อย่าตามอารมณ์ ถ้าทนดูได้ จิตจะเกิดเลื่อนระดับอีกครั้งสู่ความหลุดพ้น, จำไว้อย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่เกิดญาณปัญญาเหนื่อยหน่ายในทุกข์ ขยะแขยงในทุกข์ ความใคร่อยากหลุดพ้นออกจากทุกข์จะไม่มี ทำนองเดียวกันความพยายามที่จะหนีจากสังขารก็จะไม่เกิด, อารมณ์เหล่านี้เป็นมรรค หากทำได้สมบูรณ์ ผลปรากฏเอง.

๒๖.

ถาม

ผมได้ยินจากญาติธรรมคนหนึ่งซึ่งท่านได้ปฏิบัติมา40 ปี ตั้งแต่กระผมยังเกิด เขาทำแบบอานาปานสติ เขาแนะนำให้กระผมระลึกรู้ในรู้ ผมไม่เข้าใจ อยากทราบว่ามันตรงกับสติปัฎฐานหมวดไหนครับ มันถูกมันผิด เป็นสมถะหรือวิปัสนาหรือว่ารู้เฉยๆในปัจจุบันก็พอ (ส่วนตัวกระผมว่ารู้อย่างเดียวก็พอ) สมติว่านั่งยกมือสร้างจังหวะ เช่นยกมือขึ้นรู้ แล้วเขาให้รู้ว่ารู้อีกทีครับ

ตอบ

เข้าใจว่าให้มีสติรู้อาการของเวทนานั้นเอง คือเมื่อรับรู้ถึงเวทนาปรากฏที่ไหนก็ให้มีสติไประลึกรู้ถึงอาการนั้นๆ ที่นั้น, คำว่า “รู้ในรู้” หมายถึง ให้มีสติรู้ถึงการรู้ในผัสสะ ผัสสะรู้สึกเกิดขึ้นเมื่อใด พอใจหรือไม่อย่างไร ให้สติรู้อาการรู้อันนั้นด้วย, ศึกษาเพิ่มเติมได้จากเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (เห็นเวทนาในเวทนา) หรือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (เห็นจิตในจิต...เห็นจิตรู้ก็เห็น จิตไม่รู้ก็เห็น)

ความจริงก็คือรู้เฉยๆในปัจจุบันอย่างเดียวที่เธอเข้าใจนั่นแหละถูกแล้ว รู้ให้ต่อเนื่อง, ไม่มีความจำเป็นที่ต้องรู้ซ้อนรู้อย่างที่ยกตัวอย่างมานั้น, ถ้าสติที่รู้นั้นจิตมันไม่โปร่งไม่โล่ง ไม่อยู่ในลักษณะที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ การรู้ต้องมีผลต่อการแจ้งในจิต ทำลายความพอใจและความไม่พอใจที่ปรากฏในจิตนั้นได้เป็นวิปัสสนา, แต่ถ้ารู้เฉยๆ สลัดละอารมณ์ออกไม่ได้ เป็นการกดข่มไว้แต่ละขณะๆ นี้เป็นลักษณะของสมถะ อย่างไรก็ตาม สมถะ (ระลึกรู้ดูจิตได้เรื่อยๆแต่ยังไม่เกิดเห็นแจ้ง) ในลักษณะนี้ก็เป็นบาทฐานของวิปัสสนาได้เช่นกัน.

๒๕.

ถาม

กระผมโอนเงินถวายอาจารย์1000บ. ขอถาม...ปฏิบัติตามอาการเคลื่อนไหวเวลามีสติจะรู้สึกได้ว่าความคิดมันเกิด สติทันมันก็ดับ แล้วดูเหมือนข้างในมันยิ้ม ปฏิบัติไปบางทีบางวันจิตมันไหลไปเพ่งแบบตึงๆ กระผมต้องปฏิบัติต่อไปแบบไหนครับถึงจะเจริญกว่านี้

ตอบ

ขอเจริญพรอนุโมทนาในกุศลศรัทธา. อนุโมทนาการปฏิบัติที่พัฒนาเป็นไปในทางที่ถูกต้อง จิตยิ้มได้นี้หาดูได้ยากมาก เป็นอาการของปีติที่ปรากฏอยู่ภายใจ, แต่รู้สึกจะใจร้อนก่อนเป็น เฝ้าระลึกรู้ดูอยู่ ณ จุดเดิมนั่นแหละ เพียรระวังไม่ให้มันไหลเข้าไปใกล้หรือออกไปไกลเกินไป ตรงที่วางใจแล้วสามารถดูได้อย่างโปร่งโล่งชัดเจนเหมาะเจาะนั่นแหละมัชฌิมาปฏิปทาในภาวนา จงมีโยนิโสมนสิการค่อยเป็นค่อยไป.

๒๔.

ถาม

กระผมได้ฝึกมาหลายทาง แต่ก็คงดีทุกแนว สุดท้ายจุดหมายปลายทางก็คือที่เดียวกัน ส่วนผม ศรัทธาหลวงพ่อเทียนมาก (ผมพิมพ์คำว่าหลวงพ่อ) ผมจะมีอาการเหมือนมีกระแสไฟฟ้า หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ มาคลุมแขน ขา ศีรษะบ้าง อันนี้คืออะไรครับ

ตอบ

อันนั้นคืออาการของปีติอีกแบบหนึ่ง เรียก “อุเพงคาปีติ”

ถาม

มีประโยชน์อย่างไร

ตอบ

ทำให้มีศรัทธา มีกำลังใจในการปฏิบัติหรือค้นหาคำตอบ(ชีวิต) ที่ซ่อนอยู่ในปรากฏการณ์ภาวนา ผู้มีปีติ สมาธิจะตั้งมั่นระดับหนึ่ง เพราะตัวปีติจะเป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตไม่ให้วิ่งออกไปกินอารมณ์ข้างนอกที่ผัสสะทางอายตนะ...แต่ปรากฏการณ์ที่เล่ามานั้น ดูเหมือนว่าจะมีศรัทธาและสมาธิมากเกินไป อะไรที่มากเกินไปไม่เป็นผลดีเลย ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม, ถ้าเป็นการทำขนมหวานก็คือน้ำเชื่อมมากเกินไป แต่ถ้าเป็นการทำปลาแห้ง ก็เป็นการเติมเกลือมากเกินไป.

ถาม

แต่ผมก็รู้ และดูเฉยๆ ผมฝึกมาได้ระยะหนึ่งทำบ้างไม่ทำบ้าง ก็ดูจิตไประหว่างวัน วันหนึ่งยกมือสร้างจังหวะ แล้วมันเผลอคิดไปก็รู้ นอนลงก็ยังไม่เลิกสร้าง แต่ชั่วเวลาแว๊บเดียว เกิดอาการ ผมรู้ตลอดเวลา คือ กายผมมันซ้อนกัน โดยมีจิตอีกดวงหนึ่งเป็นผู้เห็น กายผมที่อยู่เหนือกายเดิม ประมาณ 1-2 คืบ มันเหมือนไม่มีความรู้สึกคิดอะไร เหมือนลม แหวกพุ่งเข้าไปในอากาศ มีแต่ความสุข(ผมก็รู้) มันเป็นความสุขที่ไม่เคยสัมผัสมาเลยตั้งแต่เกิดมา ยังตะโกนออกมาว่า สุดยอดจริงๆเลย สักครู่ก็มาอยู่กับความรู้สึกเดิม อันนี้เรียกว่าอะไรครับ

ตอบ

ต่อเนื่องจากอาการเดิมที่เล่ามา การที่คุณทำบ้างไม่ทำบ้างนั้นดีแล้ว จะไม่ได้ไม่ถลำเข้าไปในอารมณ์ปีติลึก, แต่ก็ยังไม่วายที่สมาธิยังมากอยู่ เพราะฟังจากนิมิตที่ปรากฏหลังจากกลับมาทำใหม่ แต่ก็ยังดีที่ผ่านไปสู่ตัวสุขแล้วหลุดกลับมาอยู่กับปัจจุบันรับรู้เฉยๆได้, ความสุขที่ปรากฏในสมาธิจิต ไม่ได้เป็นของสาธารณะแก่สามัญชนทั่วไป จะปรากฏก็เฉพาะผู้ที่ฝึกจิตถึงเท่านั้น...แต่นั่นก็เป็นเพียงทางผ่าน เป็นจุดเริ่มต้นของผู้ฝึกเดินทางสู่วิปัสสนาปัญญา, อย่ามัวหลงดีใจเสพสุขในระหว่างข้างทางเสียล่ะ มันไม่ใช่สุขสุดยอดอย่างที่ว่าหรอก นี่เขาเรียกว่าสุขแบบพื้นฐานของการอบรมจิต, รู้สึกตัว ดูไปเรื่อยๆ เดินไปข้างหน้าแล้วจะได้เห็นว่าสุขสุดยอดแบบปรมัตถ์ (นิพพานัง ปรมัง สุขขัง)นั้นเป็นอย่างไร...อย่าให้จิตไปติดอะไร รู้อยู่กับปัจจุบันขณะไปเรื่อยๆก็พอ.

ถาม

และช่วงฝึกไป ผมมีอาการคิดทุกอย่างเป็นแต่ธรรมะหมด เห็นหลวงพ่อเทียนมาสอนบ้างตัวอย่างเช่น
ระหว่างนอนสร้างจังหวะ หลวงพ่อก็เอาก้อนหินมาใส่ในตุ่มน้ำให้ผมได้เห็น จนน้ำล้นออกหมด กราบหลวงพ่อช่วยอธิบายนิมิตให้ผมด้วยครับ
ไปพุธโธที่วัดป่า พุทโธไวๆ แป๊ปเดียว หลวงพ่อเทียนท่านก็มาขันน็อต หรือที่กั้นน้ำคลองชลประทาน ยิ่งบริกรรมไว ท่านก็ขันไว ท่านมีใบหน้าเรียบเฉย ผมก็เข้าใจนับจากครั้งที่3 ผมไม่ภาวนาอีกเลย ส่วนเรื่อง อสุภะ เทวดา นรก ผี ฯลฯ ผมเคยเห็นแล้วอะไรจะเกิดผมก็รู้เฉย ปัจจุบันไม่ค่อยมีแล้ว มีอะไรๆก็ให้มีความรู้สึกเฉย
แต่ตอนนี้ผมมันชอบติดพากษ์หรือพูดในหัวผม ผมก็คงคิดว่ามันเป็นความคิดอีกรูปแบบหนึ่ง อันนี้แก้อย่างไรครับ

ตอบ

อารมณ์กรรมฐานก็จะเป็นเช่นนี้แหละ หลังจากจิตขึ้นสู่อารมณ์ปฏิบัติได้แล้ว มันก็จะอยากพูดอยากเทศน์ ดูอะไร ฟังอะไร ก็เป็นธรรมะไปหมด อาการอย่างนี้เป็นกันได้กับทุกคนที่ปฏิบัติ ส่วนจะเป็นมากเป็นน้อย ผ่านอารมณ์นี้ได้ช้าเร็ว ขึ้นอยู่กับโยนิโสมนสิการและครูบาอาจารย์ผู้ให้การชี้แนะ, ยิ่งถ้าจิตยังมีสมาธิปีติครอบคลุมอยู่มาก นิมิตในลักษณะต่างๆก็จะปรากฏได้เรื่อยๆ, ลดความเข้มมันลงได้ด้วยการหยุดทำหรือไปหาทำการทำงานอย่างอื่นเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย ความจางคลายของสมาธิลง แล้วค่อยกลับมาทำใหม่ นิมิตจะไม่มีหรือถ้านิมิตปรากฏขึ้นในขณะนั้นๆ ก็ให้มีสติระลึกรู้เท่าทัน รู้เฉยๆ อย่าไปยินดี พอใจหรือไม่พอใจ เมื่อเราไม่ไปปรุงเติมเสริมแต่งมันก็จะดับไปเองตามกฎของไตรลักษณ์ จากนั้นก็จะเหลือแต่ตัวสติอันบริสุทธิ์รู้ตัวล้วนๆ เป็นกรรมนิโยคู่ควรต่อการรู้อารมณ์วิปัสสนาขั้นสูงขึ้นไป.

ถาม

ผมยังติดภาวนาพุทโธ วันหนึ่งลองพุทโธ ก็เป็นนิมิตท่าน(หลวงพ่อเทียน)เอาไม้กวาด กวาดลานวัด สักครู่ก็มีเชือกขึ้นมารัดตัวไม้กวาด ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ผมก็ถอนพุทโธ เชือกก็คลายออก ผมก็เข้าใจก้มลงกราบท่าน ท่านก็ยิ้ม

ตอบ

ควรจะทำการเจริญสติด้วยวิธีลืมตา อยู่ในที่โล่งๆ สามารถไปได้ไกลๆ แล้วอย่าจ้องเข้าไปในจิต แต่ให้เอาสติสังเกตอาการของกายและจิตเท่านั้น สังเกตรับรู้ดูเฉยๆ ตัดคำบริกรรมออกไปด้วย จะช่วยละนิมิตที่ปรากฏและเป็นปัญหาการภาวนานี้ได้.

ถาม

วันหนึ่งผมตกจากรั้วข้างบ้าน ผมไม่มีอาการกลัวอย่างที่เคยเป็นมา มันวูบไป รู้สึกตัว แต่ก็ได้รับแผลที่คางเล็กน้อย อันนี้ที่เราสร้างจังหวะ มันมีเหตุการณ์จริงๆ มันมาจับตรงที่เราตกลงใช่หรือเปล่าครับ

ตอบ

ถ้าสติปัฏฐานปรากฏในจิตบ้างแล้ว ความที่เคยเป็นคนตกใจง่ายจะค่อยๆเลือนหายไป หรือดับได้ตั้งแต่ครั้งที่เกิดวิปัสสนาปัญญาเลยทีเดียว จิตมันอยู่กับตัว สติเฝ้ารักษาใจ ใจจึงไม่ตกไปตามกาย กายตกแต่จิตก็ยังรู้อยู่กับกายนั้นเอง.

ถาม

สร้างจังหวะ หรือรู้สึกตัวมากๆ หากวันไหนตั้งใจ ก็เครียด ปวดหัว อยากจะอ้วก ก็ลดความตั้งใจลง มาเป็นแค่รู้สึกใช่ไหมครับ

ตอบ

ใช่.

ถาม

ทำไมฝึกมากๆ ถึงได้เบื่ออะไรไปบ้าง คิดช้าลง บางทีจะคิดแต่สิ่งที่นึกไว้มันหายไปเป็นขณะๆ อันนี้ถูกต้องหรือเปล่าครับ

ตอบ

สติระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันจะเกิดปัญญาเข้าใจธรรมชาติทุกอย่างตามความเป็นจริง เห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง เบื่อที่จะคิด เบื่อที่จะปรุงแต่ง จิตขี้เกียจที่จะวิ่งเข้าไปในกรอบของอวิชชา, แต่ถึงแม้จะมีความคิดที่ยังเกิดเพราะอำนาจของตัณหาอยู่บ้างเป็นระยะๆ แต่มันก็จะไม่เหนียวหนืดเหมือนเมื่อก่อน ลบง่าย ลืมง่าย.

๒๓.

ถาม

ขอถามหลวงตาสั้นๆเป็นตอนๆไปนะครับได้แนวทางแล้วจะไปทำให้ได้ครับ มีวิธีใดที่จะลดความอยากของความคิดก่อนที่เราจะปรุงแต่ง

ตอบ

1. หากจิตชอบคิดปรุงแต่งเรื่องใดให้พิจารณาถึงคุณหรือโทษให้แจ่มชัด ควรคิด ไม่ควรคิด ได้ไม่ได้อย่างไร มากน้อยแค่ไหน เช่นนี้จิตก็จะเกิดปัญญาตัดสินได้ระดับหนึ่ง หากคิดเองยังไม่ได้ก็ให้เข้าหากัลยาณมิตร

2. ให้รู้ก่อนที่จิตจะคิดหรือถ้าความคิดปรากฏขึ้นแล้วก็ให้ตัดทิ้งออกไป อย่าให้เกิดการปรุงแต่ง

3. วิธีที่ดีที่สุดคือเจริญสติให้มากๆจนเกิดเป็นญาณทัศนะ ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเข้าไปทำลายรื้อถอนรากเหง้าของตัณหาความอยากคิด ถ้าไม่มีผู้บงการอยู่เบื้องหลัง เบื้องปัจจุบันก็ว่างเปล่า.

๒๒.

ถาม

ผมเคยไปปฏิบัติธรรมกับหลวงตาแล้ว แต่พอใช้ชีวิตประจำวันไปก็ลืม สติกับอารมณ์หลุดไปหลายครั้ง ผมขอแนวทางสว่างครับ

ตอบ

พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นบรมครูของเทวดาและมนุษย์ได้ตรัสไว้ว่า “เอกายโน อะยัง ภิกขะเว มัคโค” การเจริญสติเป็นหนทางเพียงทางเดียวที่จะเป็นกุญแจไขประตูใจให้ได้รับแสงสว่างทางธรรมได้... ภาวนา ภาวิตา พหุลีกตา สังวัตตะติ มีสติเฝ้ารู้ กระทำให้ต่อเนื่อง ทำให้มากๆ ทำจนกระทั่งถึงธรรม ถึงซึ่งความสว่างของจิตใจนู่นแหละ

การทำอะไรก็ย่อมจะมีอุปสรรคเป็นธรรมดา แต่หากเราไม่ละเลิกเสียในระหว่างก็ย่อมเข้าถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างไม่ต้องสงสัย, หลุดได้ก็เริ่มใหม่ได้.

๒๑.

ถาม

หนูได้เจริญสติมาจนถึงปัจจุบันที่รับรู้ว่าปัจจุบันขณะมีความรู้สึกว่าเบาในการสร้างจังหวะ ทุกครั้งที่พลิกมือจะเบา เกือบจะมีความรู้สึกว่าเบาตลอดวันก็ว่าได้ แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก แค่รู้สึกว่าตัวเบา ไม่หนักทั้งกายและใจ เดือนก่อนกลัวความคิดตัวเอง แต่มาวันนี้ความคิดที่เกิดขึ้นมันไม่เกิด การมีชีวิตอยู่ไม่ทุกข์ที่จะดำเนินชีวิต สบายใจมากขึ้น ถ้ามีโอกาสจะกลับไปปฏิบัติธรรมที่วัดโสมพนัสอีกครั้งค่ะ

ตอบ

ทำดีย่อมได้ดี, รักษาความดีให้ต่อเนื่อง, ความดีย่อมเจริญขึ้นตามลำดับของการกระทำ การทำความดีเป็นการทวนกระแสโลก... การเจริญสติรู้เท่าทันจิตเป็นการทวนกระแสอกุศลธรรม เบื้องแรกอาจจะรู้สึกว่าทรมานแต่รสแห่งความหอมหวานก็รออยู่เบื้องหน้า...คนติดโลกย่อมไม่เห็นธรรม แต่คนอยู่กับธรรมย่อมจะเห็นโลก, คนมีสติจะไม่ทุกข์ แต่คนที่ทุกข์คือคนที่อยู่ปราศจากสติ... บัณฑิตทั้งหลายกล่าวติเตียนผู้มีชีวิตอยู่อย่างประมาทขาดสติ.

ไม่มีความคิดเห็น: