13 ธันวาคม 2555

qa 31-40

๔๐.

ถาม

ก่อนหลับทุกคืน จะทำสมาธิให้จิตสงบจากความคิดใดๆ แล้วหลับไป พอตื่นเช้ารู้สึกตัว จิตจะเข้าไปเห็น ความยุ่งเหยิงของโลกไปหมดอย่างชัดเจน จนบางครั้งจะเกิดความรู้ว่า สิ่งที่มนุษย์ขยันทำกันทุกวันนี้ มันเป็นเพียงส่วนเกินของชีวิต บางครั้งดูเป็นสิ่งไร้สาระน่าเบื่อ และไม่รู้ตัวกันว่าเป็นความทุกข์ ความรู้สึกเช่นนี้จะมีผลเป็นอย่างไร ขอความกรุณาอธิบายด้วยค่ะ

ตอบ

เบื่อหน่ายในสังขาร ความคิดปรุงแต่ง ระวังหากมองออกไปข้างนอก/คนอื่นมากๆ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ จะเข้าแทรกเป็นวิปัสสนูได้ง่ายๆ.

๓๙.

ถาม

ได้เห็นความคิดผุดขึ้น จนกระทั่งความคิดจางลงแล้วดับไป แล้วจะมีความคิดเรื่องใหม่เกิดขึ้นมาอีก พอหลายเรื่องเข้าได้เห็นว่าความคิดนี้ทำให้จิตสบายและไม่สบาย จึงทำให้เห็นความคิดปรุงเป็นตัวปรุงแต่งจิต พอมาระยะหลังเมื่อเห็นความคิดกำลังจะก่อตัวขึ้น ความคิดนั้นก็จะไม่เกิด อันนี้คือการที่เราเข้าไปทุกข์ของจิตใช่หรือไม่ จิตจึงได้เกิดความเบื่อ กลัว ไม่อยากจะเข้าไปยึดในความคิด ขอท่านอาจารย์ให้ข้อแนะนำและให้ความกระจ่างด้วย

ตอบ

เห็นความทุกข์ที่เกิดจากการที่จิตยึดติดกับอารมณ์ความคิด ความอยาก นี่คือการเห็นอุปาทานในขันธ์5 ฝึกไปให้ชำนาญ อาการของนิพพิทา วิราคะ ชัดเท่าไหร่ ใจก็อิสระเท่านั้น.

๓๘.

ถาม

หนูมีเรื่องหนักใจและต้องไม่สบายใจทุกครั้งที่แม่ของหนูพูดเรื่องนี้ขึ้นมา แม่ต้องการให้หนูแต่งงานกับผู้ชายคนหนึ่งซึ่งอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับแม่ของหนู (แม่ของหนูอายุใกล้จะ 50 ปีแล้วค่ะ) ส่วนหนูอายุ 22 ย่าง 23 ปี แม่บอกกับหนูเสมอว่าผู้ชายคนนี้เค้าเป็นคนดี ฐานะก็ดี แม่อยากให้หนูแต่งงานกับผู้ชายคนนี้ซึ่งเป็นคนที่หนูไม่ได้รัก และหนูยังไม่อยากแต่งงาน แม่บอกว่าถ้าหนูแต่งไปแล้วหนูจะรักเขาเอง อีกทั้งพ่อแม่ก็จะสบาย และหนูเองก็จะสบายเช่นกัน เพราะฐานะทางบ้านเราก็ไม่สู้ดีนักแต่เขาสามารถช่วยให้เราสบายได้ หนูพยายามอธิบายทุกอย่างเพื่อให้แม่เข้าใจความรู้สึกของหนู แต่แม่ก็ไม่ยอมละความคิดนี้ หนูควรจะทำอย่างไรดี หลวงตาช่วยชี้ทางออกให้หนูด้วยเจ้าค่ะ

ตอบ

เรื่องการแต่งงานคือการที่คนสองคนอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาใช้คุณธรรมความช่วยเหลือเกื้อกูลเห็นอกเห็นใจ มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ต่อกัน รู้จักข่มจิต ยับยั้งชั่งใจ รู้จักอดทน หนักเอาเบาสู้ รู้จักแบ่งปัน รู้จักปล่อยวางฯลฯ ซึ่งนี่มันก็คือวิถีชีวิตของมนุษย์ ทั่วๆไปนั่นแหละ แต่ความรู้สึกรับผิดชอบตามกรอบนิติธรรมมันจะชัดเจนมากกว่า สมมุติบทบาทหน้าที่ละครชีวิตตามเกมส์ตัณหาอุปาทานบัญญัติให้

แต่งไม่แต่งก็ทุกข์ ถ้าคิดมาก,แต่งกับคนที่รักหรือไม่รักก็ทุกข์ ถ้าทำใจไม่เป็น,แต่งกับคนแก่หรือหนุ่ม ก็กลุ้มถ้าไม่พยายามมองหาความดีงามของคนอื่นให้เห็น

แต่งตามที่เราอยาก เมื่อได้สมอยากแล้ว แก้ทุกข์ได้ไหม แก้อดีต แก้ปัจจุบัน อนาคตได้หรือไม่

แต่งตามความไม่อยาก เมื่อแต่งแล้ว แก้ปัญหาชีวิตได้ไหม ,สุขใจแต่ทุกข์กาย ,สุขกายแต่ทุกข์ใจ,แก้ใจได้กาย,แก้กายได้ใจ,แก้ไม่ได้ทั้งกายและใจ, จะเอาอันไหนให้ใช้ปัญญาตรอง ชีวิตนี้สั้นนักน้อยนิด ไม่มีเวลามากพอจะให้เรามาลองผิดลองถูกกันหรอก

แต่งงานเป็นเรื่องกามตัณหา

แต่งอยู่กับคนที่ชอบที่ถูกใจเป็นภวตัณหา

เมื่อไม่ชอบคนนี้อยากแต่งกันคนอื่นเป็นวิภวตัณหา

มันเป็นตัณหา ความคิดชอบไม่ชอบทั้งนั้น ,ตัณหามีที่ไหน ความทุกข์มีที่นั่น , ทุกข์มีที่ใด ความไม่เที่ยงก็มีที่นั่น , ความไม่เที่ยงมีที่ใด ความเป็นสถานะตัวตนคงที่ก็ไม่มีในที่นั่น , รู้ความจริงเช่นนี้แล้วทำไมเราต้องเริ่มทำเหตุให้มันเป็นทุกข์ด้วยเล่า,ไม่มีใครที่วิ่งเข้าไปอยู่ในกองไฟแล้วไม่ร้อน,โลกียธรรมนำคนไปสู่ทุกข์,โลกุตตรธรรมนำคนให้ถึงสุข

โลกนี้ดูช่างกว้างไกล แต่ไร้คนเดิน

โลกนี้มีแต่ทุกข์ที่ต้องเผชิญ แต่ก็ห่างเหินจากผู้มองเห็น

โลกนี้ว่างเปล่า แต่ผู้คนก็หลงอยู่กับความอยากมีอยากเป็น

โลกนี้เพียงของเล่น รีบเพียรให้เห็นของจริง.

๓๗.

ถาม

เมื่อคืนดิฉันคิดเรื่องอดีต ที่เคยคิดฆ่าตัวตายโดยการกระโดดแม่น้ำโขง พอภาพปรากฏทำให้เกิดอาการกลัว อย่างรุนแรง นอนไม่หลับ เลยตั้งสติอยู่นานและเกิดอาการที่ว่า เออ เราคงยึดมั่นเรื่องตัวตน เลยบอกกับตัวเองว่า เรานี้เกิดขึ้นจากธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีตัวตน ฉะนั้น ภาพดังกล่าว จะมามามีตัวกับดิฉันทำไม พอคิดได้ดังนั้น ภาพจางไป และนอนหลับได้ ซึ่งความคิดนี้ รบกวนดิฉันประจำ

ตอบ

อุปาทานหรือความประทับใจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ความพยายามมีมาก อาการติดอกติดใจก็มีสูง ในคนๆหนึ่งจะมีพอยท์หรือจุดอ่อนอย่างนี้กันทุกคน มันจะมีผลต่อจิตเรา 2 ครั้ง คือ

1. เมื่อจิตอ่อน มันจะชอบโผล่มาตอนเรามีปัญหาชีวิตหรือยามป่วยไข้ เมื่อคิดมากๆแล้วจะมาลงด้วยเรื่องนี้ เป็น อุปปีฬกกรรม* คอยซ้ำเติมเราอีกทีหนึ่ง หรืออีกครั้งก็ตอนเราสะลึมสะลือครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือตื่นนอนใหม่ๆ เรายังไม่ทันได้ตั้ง(สติ)ใจ มันจะชอบไหลออกมา,สติ สมาธิเรายังอ่อน สู้ไม่ได้ จึงทำให้รู้สึกเหมือนฝันร้ายหลอนใจเราบ่อยๆ

2. เมื่อจิตเข้มแข็ง สติจะเป็นตัวชอนไชเข้าไปขุดคุ้ย ไล่ชำระล้างอนุสัย อาสวะ อุปาทานเหล่านี้จากใจไปเอง

- ให้หมั่นเจริญสติให้มาก สติอันบริสุทธิ์ก็ประดุจดังน้ำใสไปไล่น้ำขุ่นให้ออกไปจากจิต ซึ่งนับวันนานไปมีแต่จะกลายเป็นสารเคลือบจิตปิดกั้นไม่ให้เห็นธรรมชั้นลึกได้

- บางคนที่ไม่ได้เจริญสติจะหวาดผวากับภาพหลอนในอดีต จนจิตกังวลเก็บมาคิดปรุงแต่ง อยากกลับไปแก้ไขเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้ ก็คงต้องใช้อุปาทานแก้อุปาทาน คือสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา ทำบุญตักบาตร สร้างภาพกุศลจิตดีๆให้ประทับใจ กดทับอกุศลดังกล่าวไม่ให้ส่งผลเป็นครั้งคราวไปก็มี

- มองตามความเป็นจริง เห็นแบบปรมัตถ์ สมมติจะหายไปเอง เพราะหากเห็นเป็นอนัตตา นอกนั้นก็มายาดีๆเรานี่เอง.

*อุปปีฬกกรรม “กรรมบีบคั้น” ได้แก่ กรรมที่เป็นกุศลก็ดี อกุศลก็ดี ซึ่งบีบคั้นการให้ผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรม ที่ตรงข้ามกับตน ให้แปรเปลี่ยนไป เช่น ถ้าเป็นกรรมดีก็บีบคั้นให้อ่อนลง ไม่ให้ได้รับผลเต็มที่ ถ้าเป็นกรรมชั่วก็เกียดกันให้ทุเลา จาก: พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

๓๖.

ถาม

กระผมไม่เคยเจริญสติแบบเคลื่อนไหวมาก่อนเลย แต่สนใจธรรมมาตั้งแต่เด็ก ๆ และชอบอ่านหนังสือธรรมะมากๆ วันหนึ่งได้ไปซื้อหนังสือ "เคลื่อนไหวไปสู่ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม (ภายใน 7 วัน)"ตอนนี้กำลังสนใจแนวนี้เป็นอย่างมาก เพราะหลังจากอ่านหนังสือเล่นนี้แล้ว เห็นอะไรกระจ่างขึ้นเยอะมาก ๆ ปลงไปได้มาก คำถามคือว่ากระผมควรจะเริ่มต้นเจริญสติแนวนี้อย่างไรครับ

ตอบ

เบื้องต้น ศึกษาทฤษฎีวิธีการเจริญสติแนวนี้ให้ถูกต้องชัดเจน ยึดหลักรู้สึกตัวอยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด,ฝึกสติระลึกรู้อยู่กับการนั่งสร้างจังหวะตามรูปแบบ สลับกับการเดินจงกรมให้ชำนาญ วันละ3-4 ชม. เช้า-เย็น,ระวังสังเกตนิวรณ์ทั้ง 5 อย่าให้เข้ามารบกวนใจ หากยังทำไม่ได้ก็พยายามแก้ไขให้ใจกลับมาอยู่กับกายอยู่เสมอๆ ระวังอย่าเข้าไปในความคิด ความอยาก สลัดทิ้งการปรุงแต่งให้ไวๆ ประคองเฉพาะพุทธะคือ ผู้รู้ ผู้ดู ผู้เห็นล้วนๆ ไม่ให้หวัง ไม่เอา ไม่เป็นอะไร รู้อย่างเดียว รู้ไปเรื่อยๆ รู้อยู่กับกาย รู้เห็นปล่อยวางทุกย่างก้าวทั้งเท้าและจิต.

๓๕.

ถาม

ตอนนี้ชีวิตของลูกกำลังก้าวสู่จุดเปลี่ยนผัน ความทุกข์ใจที่คิดว่าแสนสาหัสที่สุดในชีวิตได้ก้าวเข้ามาในจิตใจจนรู้สึกว่าไม่มีหนทางให้เดินไปข้างหน้าเลย สามีที่ลูกไว้ใจ เชื่อใจ คิดหวังว่าจะฝากชีวิต ได้เปลี่ยนแปลงไปทำให้ลูกเกิดความทุกข์ใจแสนสาหัสเพราะความคิด ความหวัง ได้พังทลาย

ตอนนี้สิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวจิตใจลูกไม่ให้ดำดิ่งสู่ความคิดชั่วร้ายต่างๆ คือพ่อกับแม่ ลูกอยากจะหาทางออกให้ตัวเองได้ก้าวสู่จิตใจที่เป็นปกติ และอยากดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคตให้มีความสุข

หลวงตาเห็นว่าการที่ลูกหันหน้าเข้าวัดเพื่อปฏิบัติธรรมเพื่อให้ตนเองได้พบทางออกนั้นเป็นหนทางที่ช่วยได้ไหมค่ะ แล้วผู้คนรอบข้างจะหาว่าเราหนีหน้าหนีปัญหาไหม

ตอบ

อันนี้ความจริงมันเป็นโรคอย่างหนึ่งของชีวิต มันพร้อมเสมอที่จะเกิดขึ้นกับใครเมื่อใดก็ได้ เพียงแต่อาการของใครจะมากน้อยกว่ากันเท่านั้น ขึ้นอยู่กับภูมิธรรมสลายอุปทานที่ได้ฝึกฝนมาว่าจะมีคุณภาพหรือเปล่า

สิ่งที่เรากำลังประสบนี้ มันเป็นอาการของโลกอยู่แล้วหล่ะ ความจริงก็ไม่มีใครทำร้ายเราหรอก ไม่มีใครหยิบยื่นความผิดหวังสมหวังให้กับเราได้เลย เราเองต่างหากหล่ะที่หลงไปสร้างความหวังในจิต

กิเลสตัณหา ความรักความชัง มันไม่ได้มีอยู่จริง เราไปปรุงแต่งมันขึ้นมาในจิตเราทั้งนั้น เป็นเพียงมายาครู่หนึ่ง ขณะหนึ่ง เกิดมาแล้วดับไป........... รีบพยายามฝึกให้ชีวิตความคิด อยู่กับปัจจุบันขณะเถอะ อนาคตของชีวิตที่ดีเกิดขึ้นได้ ถ้าหากกลับมาเริ่มต้นอยู่กับปัจจุบันในใจเป็น

ปฏิบัติธรรม คือการนำจิตกลับมาเริ่มต้นใหม่ ไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่เป็นการทำใจให้อยู่กับความจริง เริ่มต้นแสวงหาชีวิตในแสงสว่างดีกว่า จะดื้อหาดั้นด้นไปในที่มืด..........ทางออกของชีวิตเปิดไว้เสมอกับผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรม.

๓๔.

ถาม

ลูกได้เคยเข้าร่วมฝึกปฏิบัติธรรมที่วัด เนื่องจากมีทุกข์อย่างหนึ่งที่แก้ไม่ได้สักที ถึงตอนนี้ก็คิดว่ายิ่งไปกันใหญ่ ลูกขอเล่าอาการของจิตตอนนี้ก่อนนะเจ้าคะ

หลังจากจบคอร์สปฏิบัติธรรมใหม่ๆ ก็ยังประคองความรู้สึกตัวไปได้ แต่ก็มีหลุดหล่นหายไป เนื่องจากต้องอยู่ในสังคมการทำงาน พบเจอผู้คนมากมาย เวลาที่ลูกจะคุยกับเพื่อนร่วมงาน ลูกมักจะคิดไปล่วงหน้าว่าเขาจะพูดอะไร รวมทั้งเวลาที่ลูกสอนนักศึกษา แล้วกวาดสายตามองลูกศิษย์ ลูกมักจะคิดตีความเอาเองว่าเขาจะเข้าใจกันรึเปล่า และเวลาที่อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย ลูกไม่เป็นตัวของตัวเองต้องคอยระวังกิริยาอาการ คิดกลัวไปว่า คนนั้นจะว่าเราเป็นอย่างนั้น คนนี้จะว่าเราเป็นอย่างนี้ แต่ลูกก็พยายามอยู่กับความรู้สึกตัว แต่มันชอบเป็นบ่อยๆ จนลูกเบื่อหน่าย ไม่อยากติดอยู่กับอาการแบบนี้ ลูกจึงขอคำแนะนำจากหลวงตาค่ะ ว่าจะแก้อาการนี้อย่างไร

ตอบ

คนที่ชอบคิดเล็กคิดน้อย คิดบ่อยๆ พร่ำเพรื่อ เรียกจิตชนิดนี้ว่าเป็นอาการของความร่ำไรรำพัน ปริเทวทุกข์ คิดมากจนเคยชินเป็นนิสัยวิตกจริต.. วิธีการบำบัดคือต้องฝึกเจริญสติให้มาก จนถึงขั้นสามารถแยกตัวรู้ออกจากตัวคิดให้ชัดเจน แล้วเราจะเป็นผู้ดูจิตที่มันแอบคิดสร้างภาพมายา รู้ตัวตอนไหนให้ดึงใจเราไว้กับตัวรู้ หรือไม่ก็ควรใช้สติดูความคิดบ้างก็ได้ ว่ามันเกิดขึ้นตอนไหน ปฏิกิริยาของมันเป็นเช่นใด ต้องกล้าดู กล้าสังเกตปรากฏการณ์ในจิตของตนเองบ้าง ไม่กลัว และไม่หนีความคิด ไม่หนีอาจเป็นไม้เด็ดไม้ตายที่จะปราบมันก็ได้ เห็นแล้วเฉยกับมันให้ได้ อย่านึก อย่าคิด อย่าจินตนาการ ว่ามีใคร สิ่งใดแว๊บเข้ามาในจิตเพียงแต่รู้นิดๆ ว่าเป็นสักแต่ว่าอาการเท่านั้นพอ

หากยังคิดอยู่ก็ต้องให้เป็นแนวพุทธ ตามหลักของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หากยังไม่หลุด หยุดความคิดยังไม่ได้ ก็ต้องกล้ามาเริ่มต้นที่ต้องอนุบาลสติ คือฝึกระลึกรู้อยู่กับกายกันใหม่.

๓๓.

ถาม

กระผมเคยเข้าไปร่วมปฏิบัติธรรมแล้ว 1 ครั้ง แล้วกระผมเองก็นำมาปฏิบัติที่หอ ผมเองรู้สึกว่าเมื่อเจริญสติแบบเคลื่อนไหวทำให้กระผมรู้สึกว่า ผมเองเปลี่ยนแปลงไปเยอะแต่กระผมเองประสบปัญหาที่ว่า...ตอนนี้ผมนั่งทำจังหวะและเดินจงกรม แล้วอยู่ดีๆ ในหัวของกระผมก็กลายเป็นเครื่องเล่น MP3 เพลงทุกเพลงที่กระผมเคยฟังมาก็ผุดออกมาเหมือนดอกเห็ด เมื่อเพลงนี้จบ เพลงใหม่ก็ขึ้น ในช่วงนี้กระผมเองก็ทำงานหรือใช้คอมพิวเตอร์โดยไม่ได้เปิดเพลงฟัง แต่ก็ยังเป็นเหมือนเดิม ตอนนั่งทำจังหวะและเดินจงกรม....ทำอย่างไรดีครับ..อาการดังกล่าวถึงจะหายไป......ใคร่ขอคำแนะนำจากหลวงตาด้วยนะครับ

ตอบ

มันเป็นขยะที่สั่งสมอยู่ในจิต เป็นกรรมเก่าเมื่อครั้งก่อน อดีตกาลที่ผ่านมาคงชอบเสียงเพลงเป็นชีวิตจิตใจ ขยะชนิดนี้เลยมีมาก , ให้อดทนทำความเพียรให้มาก กำหนดรู้ เติมสติใส่ใจสุมไฟตบะเผาโมหะนี้ไปเรื่อยๆ ให้ทำช้ำๆ , กิเลสมันเป็นอนิจจัง ไม่นานจะจืดจางชนิดแบบฟ้าหลังฝน

......อุทาหรณ์กับทุกชีวิต ชอบอะไร ชังอะไร มันจะเก็บไว้ในใจเสมอ แล้วมันก็จะแสดงตัวออกมาเป็นอุปสรรค เวลาที่เราต้องการสมาธิจิตที่สูงเพื่อการหยั่งรู้สัจจธรรม เหมือนเราอยากใส่เสื้อผ้าสวยๆ สะอาดๆ ไปเข้าเฝ้าพุทธองค์ ณ ศูนยตาวิหาร ครานั้นเราเองกลับหาเสื้อผ้าดีๆ อย่างที่ต้องการไม่ได้เลย ต้องเสียเวลามานั่งซักทำความสะอาด ได้แต่นั่งชะเง้อดูคนที่เขามีชุดใหม่ๆ ดีๆ ที่เขาใส่ไปกัน

เอาเถอะ....เติมน้ำยาสติใส่ รีบขยี้ รีบตากลมผึ่งแดดเข้าไว้จะได้ไปชมเมืองไร้ทุกข์กัน.

๓๒.

ถาม

กราบนมัสการหลวงตา เนื่องด้วยวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมาดิฉันได้ไปกราบนมัสการหลวงตา และถวายเงินร่วมทำบุญกฐินสามัคคี ทราบว่าหลวงตาน้ำตาล เกินปกติ 400 หลวงตารับประทานยาเบาหวานตามแผนรักษาหน่อยนะคะ

ตอบ

สุขภาพกายเป็นวิบากขันธ์ สุขภาพจิตนั้นเป็นวิบากธรรม.........ชีวิตนี้ตามจัดสรร ได้เท่าไหร่อยู่ไปเท่านั้น.

๓๑.

ถาม

ถ้าปฏิบัติหลายวัดแล้วแต่ละวัดบอกวิธีในการเริ่มต้นไม่เหมือนกัน เช่น วิธีกำหนดจังหวะแบบหลวงตา พอไปวัดอื่นเขาบอกว่าให้เพ่งไปที่ปัญหา และพิจารณาปัญหา เลยไม่รู้ว่า วิธีปล่อยให้ปัญหาผ่านไปโดยไม่สนใจ หรือวิธีพิจารณาปัญหา เป็นสิ่งที่ตัวเองต้องมุ่งทำ

ตอบ

จะปล่อยก็ได้ จะเพ่งพิจารณาปัญหาก็ได้ แต่ให้อยู่กับความรู้ตัว มีสติคุ้มครองจิต รู้ตัวอยู่กับปัจจุบันอย่างเข้มแข็งมั่นคง แม้ไม่ประสงค์จะปล่อยวางปัญหามันก็ต้องดับไปเองอยู่แล้ว เพราะการระลึกรู้ตัวนั้นคือมรรค การขาดสตินั้นคือสมุทัยของปัญหา, การเพ่งเผากิเลสมาก สติมากพอ กิเลสก็ดับ แต่หากความรู้สึกตัวมีน้อย ก็พลอยกลายกับเป็นเราติดอารมณ์ไปเลย

ปิดไฟอย่าไปหมุนที่หลอด อย่าคลำหาปุ่มสวิชท์ที่หลอด มันไม่ได้มี กระแสมันส่งผ่านสวิชท์เข้าไป ต้องปิดที่ปุ่มสวิชท์นี้

ปัญหาคือ ความคิด ต้นตอของมันอยู่ที่จิตขาดความรู้ตัวทั่วพร้อม หากจิตมารู้สึก ระลึกรู้อยู่กับกายมันก็ปล่อยวางความคิด เมื่อรู้ความไม่รู้ก็ดับ

ปัญหาทางกาย (รูปกาย) คงไม่ต้องสอนนะ ปัญหา(ทุกข์) ทางจิต แก้ได้ด้วยการกำหนดรู้ เพียรเพ่งระลึกรู้เฝ้าดูให้ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่รู้แล้วปล่อยให้ปัญหามันผ่านไป แต่ให้รู้จนถึงการสิ้นไปแห่งตัณหา (นิโรธ)

การสร้างจังหวะเป็นอุบายระลึกรู้ อุปกรณ์เสริมการประคองการเฝ้าดูให้ต่อเนื่อง เข้มข้นขึ้นไม่ให้เผลอสติตัวรู้ตั้งมั่นอยู่กับฐาน พร้อมปฏิบัติการดูกายดูจิตได้ทุกขณะจิต การรู้อยู่กับปัจจุบันไม่ใช่การหลบปัญหา สติจะทำหน้าที่เหมือนนายทวารบาน ใครเข้าออกเขาจะเป็นผู้ตรวจเช็ครู้หมด ผู้ร้าย ผู้ดี ยากจนมั่งมี เศรษฐียาจก ฯลฯ คิดดี คิดชั่ว ง่วง เหงา ปฎิฆะ ราคะ โลภะ ฯลฯ ยิ่งสติตั้งมั่นเท่าใด การเห็นตามความเป็นจริง (ยถา ภูติญาณ) ก็จะปรากฎชัดเท่านั้น ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็อยู่ในวิสัยทัศน์, ความจริงของปัญหาก็คือ การขาดความรู้แจ้ง ทำลายความมืดบอดในใจได้แล้ว จะต้องไปเพ่งพินิจพิจารณาอะไรอีกเล่า ที่ผ่านมาการฝึกขั้นพื้นฐานเรายังไม่ดีพอ สติเราไม่ชัด ความรู้สึกกับกาย (กายานุปัสสนา) เรายังไม่ต่อเนื่อง ความลังเลสงสัยเบื้องต้นเลยยังมีอยู่ ทำให้มากๆ ให้อนุบาลจิตจนรู้รูปนาม สติรู้แจ้งกายซะสิ ปัญญาที่ปรากฎจะทำลายวิจิกิจฉาขั้นพื้นฐานพวกนี้ได้ ขยันรู้ตัวเข้าไว้นะจ๊ะ.

ไม่มีความคิดเห็น: