13 ธันวาคม 2555

qa 241-250

๒๕๐.

ถาม

เวลาที่จิตของเราคิดไปโดยไม่มีจุดมุ่งหมายจนบางครั้งตัวเราเองก็ไม่สามารถควบคุมจิตได้เราต้องทำอย่างไรในขณะที่กำลังคิดครับ

ตอบ

ไม่ต้องไปควบคุมมัน เพียงเฝ้าดู รู้เห็น รู้อยู่กับกาย เพียงเท่านี้จิตก็จะไม่หลงไปกับความคิด ความคิดมันล่องลอยออกไปที่อื่น เพราะเรารู้ตัวไม่ชัด รู้ตัวไม่พัฒนาสู่ปีติ – สมาธิ – ปัญญาได้ มันก็เป็นแบบนี้แหละ.

๒๔๙.

ถาม

กระผมเพิ่งเริ่มฝึกสติครับ ตื่นตีสามครึ่งนั่งสร้างจังหวะสู้กับความง่วง ขณะกำลังสู้กับความง่วงอยู่รู้สึกขนลุกคล้ายปิติพอเกิดก็รู้สึกความง่วงก็หายไปทำให้รู้สึกตัวดีขึ้น พอสร้างจังหวะไปสักพักก็ง่วงอีกสลับกับเกิดขนลุกขนพอง กราบเรียนถามหลวงตาว่าสภาวะที่เกิดต้องแก้ไขอย่างไรและควรวางจิตอย่างไรเวลาเกิดความง่วงครับ

ตอบ

รู้ตัวให้ชัดเจน ช่วงฝึกใหม่ ๆ ใจจะเกิดปีติ หากฝึกจนเกิดความชำนาญ นานไปใจจะเป็นสมาธิตั้งมั่นเองเลย ความง่วงก็เช่นกัน เมื่อสติรู้ตัวต่อเนื่อง จิตตื่นเบิกบาน ความง่วงมันหายไปเอง หากนั่งเจริญสติความง่วงมันเยอะก็ให้ลุกเดินจงกรมสลับกันไปมาได้.

๒๔๘.

ถาม

ก่อนหน้านี้เคยส่งคำถาม หลวงตาได้เมตตาแนะนำจนเข้าใจ และได้ปฏิบัติต่อมา คือให้มีสติรู้การเคลื่อนไหวของกายและใจ เฝ้าดูเขา ฝึกปฏิบัติไปเรื่อย ความทุกข์ก็เบาบางลง มีความสุขที่ได้ปฏิบัติแบบขยับมือ จนวันนี้จิตใจเปลี่ยนแปลง แน่ใจว่ามันไม่เหมือนเดิม สภาวะนี้เป็นมา 3 เดือนกว่า ขออธิบายตามที่เห็นนะครับ ตอนนี้เห็นความทุกข์อยู่ห่างๆ เห็นอีกตัวที่พยายามจะแทรกแซงจิต มันคอยจะรวมเป็นก้อนทุกข์ ถ้าไม่ดิ้นรนทำอะไรจิตก็จะเบาสบาย ถ้ามีการเข้าไปทำจะเห็นแว๊บๆ แล้วมันก็ดับ เจ้าอารมณ์ก็จะเป็นอิสระจากการแทรกแซง เหมือนปัญหาตอนนี้ไม่ได้เกี่ยวกับจิตแล้ว

ปัญหาที่เข้าใจคือ เพราะมีการแทรกแซงจิต หรือความดิ้นรนอยากให้จิตดีเลยเกิดความทุกข์ การปล่อยให้จิตเป็นอย่างที่เขาเป็นจะไม่มีการทำอะไรกับอะไร มันเลยเบาๆ โล่งครับ แต่ช่วงที่ขยับมือตามจังหวะ จิตจะเบาโล่งมากกว่าเดิมอีกหลายเท่าเลย สิ่งที่ปฏิบัติอยู่คือ พยายามเป็นกลางต่อสภาวะ ไม่ดิ้นรนแทรกแซงจิต ปล่อยจิตให้เขาเป็นอย่างที่เค้าเป็น แต่อดสงสัยไม่ได้ครับ เมื่อก่อนจะดูการทำงานของจิตอย่างเดียว แต่พอเห็นความอยากที่จะบังคับจิต หรือความดิ้นรนอยากให้จิตดีเกิดขึ้น ถ้าเปลี่ยนมาดูความดิ้นรนหรือความอยากบังคับจิตจะผิดไหมครับ

ตอบ

ไม่ผิด จะดูจิตหรือธัมมารมณ์ที่เกิดกับจิตก็ได้ทั้งนั้น แต่ให้แยกผู้ดูกับตัวทุกข์ออกจากกันให้ชัดเจน จะได้ไม่หลงเอากิเลสเป็นธรรม.

๒๔๗.

ถาม

ขณะนี้เห็นทันทุกข์ และคิดสั้นลงมาก เห็นทุกข์ เห็นเวทนาของกาย ของใจ มันอยู่ห่างๆ ตั้งแต่รู้รูปนาม แต่ว่าอยู่ห่างครูบาอาจารย์ได้แต่ฟังเสียงหลวงตาจาก mp3 เรียนถามหลวงตาว่าจะปฏิบัติต่อไปอย่างไรครับ

ตอบ

ทำอย่างเดิมนั่นแหละ ดูอาการของรูปของนามให้ละเอียดกว่าเดิม ศึกษาวิธีไม่ให้จิตติดไปกับความคิดปรุงแต่ง พยายามฝึกสติตัวรู้ให้คม ให้ดับได้ตัดได้ในทันทีที่มันผุดออกมา.

๒๔๖.

ถาม

ตั้งแต่ได้มาศึกษาธรรมะประมาน 1 เดือนแบบจริงจัง ทำให้ผมอยากบวชมาก แต่ผมมีบุตร 1คน ภรรยา 1 คน ผมมีอาชีพรับราชการ มีความเลื่อมใสมาก จนอยากลาออกมาบวช แต่ทุกคนห้ามไว้ แต่ผมยังไม่ล้มเลิกความคิด คือ ผมคิดว่าการปฏิบัติทุกวันนี้ไม่อาจทำให้ผมถึงจุดสูงสุดได้คือนิพาน ผมควรจะทำยังไงครับผมยังแน่วแน่อยู่ครับ

ตอบ

กำลังแห่งศรัทธานี้เป็นทรัพย์อย่างหนึ่ง เกิดขึ้นกับจิตผู้ใด ทำให้ใจผู้นั้นมีความพร้อม เรียกว่า บารมีเริ่มมา ก่อนที่ปัญญาจะเกิด อาจใช้วิธีทดลองฝึกช่วง 5 – 7 วันดูก่อน หรือลาบวช 1 พรรษา เพื่อแสวงหาคำตอบประกอบการตัดสินใจอีกครั้ง.

๒๔๕.

ถาม

ตอนนี้หนูทำรูปแบบโดยใช้วิธีของหลวงพ่อเทียนค่ะ คือ ยกมือสร้างจังหวะและเดินจงกรมซึ่งจะไม่มีการบริกรรม แต่พอชีวิตประจำวัน ต้องทำงานเสริฟอาหาร ก็จะดูกายเคลื่อนไหวไปด้วย แต่ส่วนมากจะใช้การบริกรรมพุทธโธค่ะ พอเพื่อนหนูทราบเข้าเลยบอกว่าจะทำให้เป็นการตีกันหรือเปล่า ทำไมไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะทำแบบนี้จะตีกัน และทำให้ไม่ก้าวหน้า ขอความเห็นจากพระอาจารย์ด้วยค่ะ

ตอบ

หากยังไม่เกิดการสัมผัสสติที่แท้ ความไม่ลงตัวของวิธีการย่อมมี ไม่เป็นไรหากทำแล้วไม่ก้าวหน้า ค่อยเลือกทำเอาเฉพาะวิธีใดวิธีหนึ่ง.

๒๔๔.

ถาม

การให้รู้สึกตัว คือ การมารู้สึกกายล้วนๆรึเปล่าคะ แล้วเมื่อเรารู้สึกที่กายได้แล้ว ก็ให้รู้สึกแนบแน่นลงไปอีกรึเปล่าคะ

ตอบ

รู้กายเพื่อให้เห็นแจ้งธรรมชาติของกาย เช่น เป็นทุกข์ ทนได้ยาก แปรเปลี่ยน ไม่อยู่ในอำนาจจะบังคับได้ ปรากฎการณ์นี้จะประจักษ์ได้เมื่อจิตเป็นสมาธิ คือ รู้รูปกายได้อย่างต่อเนื่อง อิสระ ไม่เพ่งจิตไป ณ จุดใดจุดหนึ่ง หากสมาธิมากพอก็จะรู้เห็นตามอารมณ์ที่สอง คือ ความคิด หากจิตตั้งมั่นได้ก็จะเห็นไตรลักษณ์ในนามรูปได้เช่นเดียวกัน.

๒๔๓.

ถาม

1. เวลาทำงานไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน ควรทำอย่างไรดีคะ ?

ตอบ

ฝึกขยันกำลังรู้ให้บ่อยๆ ต่อเนื่องนานๆ

ถาม

2. เป็นคนที่โมโหง่าย ใครทำอะไรไม่พอใจก็โกรธแต่ไม่นานก็หาย ควรทำอย่างไรดีคะ

ตอบ

ความโมโหเป็นเหตุทำให้จิตเศร้าหมอง สะสมปฏิฆะนุสัย หมั่นสังเกตอาการที่เป็น และเวลาที่อาการมันหายไปบ่อยๆและให้ชัดเจน ฝึกให้เห็นการเกิด-ดับของอารมณ์ให้ถี่ๆ อาการนี้จะค่อยจางคลายมลายไปได้ในที่สุด.

๒๔๒.

ถาม

หนูมีโอกาสได้ไปฝึกภาวนายกมือสร้างสติกับเพื่อนมา 3วัน วันแรกยังไม่ลงตัว ง่วงมาก ต่อสู้กับความง่วง ความเบื่อเหมือนเคย ได้รู้จักคำว่ารู้สึกตัวเป็นครั้งแรก ครูฝึกสอนให้ยกมือแบบช้า ๆ ช้ามากๆๆ ช้าจนแทบขาดใจ (สำหรับตัวเองนะคะ) และให้ตั้งใจทำ แต่รู้สึกตัวได้ดีมากเลยค่ะ

ตอบ

อนุโมทนา...เอาความพอดี ช้าหรือเร็วก็ได้ ทดลองดูไปก่อน อย่างไหนดีเอาอย่างนั้น

ถาม

วันที่สองได้เห็นว่า ระหว่างที่ยกมือช้าๆ เห็นความรู้สึกตัว ได้เห็นขันธ์ทำงานหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน เช่น ระหว่างยกมือ ท้องมันก็พองยุบไปตามแรงหายใจ ลมหายใจก็ทำงานของเค้าอยู่ชีพจรเต้นไหว เห็นความยิบยับ(เรียกอะไรไม่รู้)ในร่างกายเรา

ตอบ

เห็นอาการกายในกาย กายาคตาสติ กายานุปัสสนา

ถาม

วันที่สาม ในระหว่างที่หยุดมือ ก็ยังมีความรู้สึกตัวอยู่ตลอด ความรู้สึกตัวเค้าทำงานอยู่ตลอดเวลาถ้าเราตั้งใจ หนูสงสัยว่า การทำช้า ๆ แบบที่หนูฝึกจะเป็นการเพ่งหรือไม่คะ เพราะเคยทำแบบที่เคยทำ ไม่เคยเกิดสภาวะธรรมแบบนี้เลย

ตอบ

ยาที่เราคิดว่าถูกโรค แต่เมื่อกินไปนานๆ จึงรู้ว่ามีผลข้างเคียง....ถ้าไม่เพ่งลองทำไปนานๆ ดูสิมันจะเป็นอย่างไร อึดอัด โปร่งโล่ง เครียด เบื่อ สติเจริญหรือแคระแกรน เราจะรู้ หลังจากนั้นเหมือนปลูกต้นไม้นั่นแหละ บางทีก็ติด ดูเหมือนมีราก แต่ไม่เจริญเติบโตสักทีก็มี สังเกตดูให้ดี.

๒๔๑.

ถาม

เมื่อก่อนไม่ค่อยจะเห็นความคิดของตัวเอง มีความเข้าใจว่าตัวเองคิดน้อย ไม่ค่อยคิด ช่วงหลังๆมาเห็นความคิดเยอะมากมายจนมึนหัว กราบเรียนถามหลวงตาว่าควรทำอย่างไรต่อคะ (ใช้วิธีการปฏิบัติขณะทำงานบ้านไม่ได้เดินจงกรม)

ตอบ

เห็นความคิดเกิดดับได้ แสดงว่าจิตเรามีสมาธิ เกิดไม่เห็นดับสลายหายไป มันจะเกิดการสะสมมึนหัว เบื่อหน่ายชีวิต ติดอารมณ์ ต้องขยันประคองพุทธภาวะ หรือตัวรู้เพื่อให้เข้ามาอยู่ในจิตแทนตัวหลงคิด สติน้อยจิตจะคอยหนีตามไปอยู่กับความคิดเสมอ หมั่นฝึกฝนความรู้ตัวให้มาก อย่าให้จิตพลัดพรากจากปัจจุบันอารมณ์

ไม่มีความคิดเห็น: