13 ธันวาคม 2555

qa 51-60

๖๐.

ถาม

อาทิตย์ก่อนเข้า ร.พ ถูกเจาะเลือด เหลือบไปมองแขนรู้สึกเหมือนมองแขนคนอื่น เจ็บค่ะ แต่เหมือนดูคนอื่น เลยไม่มีความคิด พอความคิดเป็นแขนเราจะเข้ามันก็ขาด เลยเห็นว่าทุกครั้งที่เจ็บ เพราะมันเป็นแขนเรา แปลกจังค่ะหลวงตา แต่สนุกดี
ตอนนี้มีปัญหาเรื่องการนอนมากค่ะ ความที่รู้สึกถึงหัวใจเต้นแล้วมันดังมาก แถมบางครั้งลืมตาตื่นตอนกลางคืน รู้สึกเลยค่ะหลวงตาว่าตรงที่กดกับพื้น มันเป็นทุกข์ เห็นว่าต้องขยับ แล้วก็ทุกข์ใหม่ บอกไม่ถูกค่ะ เหมือนเห็นแต่กายเป็นทุกข์ แทบจะทุกส่วน แต่ใจกลับไม่ตั้งมั่นค่ะ เห็นความคิดลอยไป ลอยมา เหมือนดูใบไม้ที่ถูกลมพัด ส่ายไปมา แต่อยู่กับที่ บางทีความคิดแรงๆ ก็หลุดตามความคิด ตอนนี้แทบไม่ได้อ่านหนังสือธรรมะ รู้แต่ว่าแค่ตามรู้กาย ใจก็พอ ไม่อยากแบกอะไรอีกแล้ว อยากรายงานผลการปฏิบัติค่ะ ถ้าหลวงตาเห็นกำลังหลงทาง กราบขอความกรุณา หลวงตาสั่งสอนด้วยค่ะ

ตอบ

จะทำกิจทำกรรมอะไรก็ได้ถ้าใจมันไม่หนี...อุชุปฏิปันโน = ปฏิบัติตรง ญายปฏิปันโน = ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ , ท่องจำให้ขึ้นใจแล้วจะรู้ว่าฉันทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ด้วยอำนาจตัณหาหรือธรรมกี่เปอร์เซ็นต์.

๕๙.

ถาม

เวลาที่หนูไปปฏิบัติธรรมหนูรู้สึกดีมาก มีสติมากขึ้น แต่คนรอบข้างไม่อยากให้ไปด้วยเหตุผลต่างๆ นานา จึงทำให้หนูไม่กล้าที่จะไป เพราะกลัวว่าถ้าไปแล้วเขาจะไม่สบายใจ แต่ทุกวันนี้หนูไม่ค่อยมีสติอยากจะไปวัด หนูจะบาปไหมคะ ถ้าไปวัดแล้วครอบครัวไม่สบายใจแต่กลายเป็นว่าหนูสบายใจอยู่คนเดียว

ตอบ

สติปัญญาที่มีรวมถึงที่ฝึกมา พัฒนายังไม่พอ รู้ยังไม่ทะลุเปลือก ไม่แหลมคมพอต่อการตัดสินทุกข์... ครั้งเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกบวช มีพระประสงค์จะดับทุกข์ แก้ทุกข์ให้กับคนทั้งโลก ท่านมิต้องไปปรึกษาหารือกับคนทั้งโลกดอกหรือ หรือเป็นเพราะว่าเรามิใช่พระพุทธเจ้า แต่ถ้าคิดจะเดินตามรอยพุทธบาทสู่ความพ้นทุกข์ให้ปรึกษาปัญญา หากยังไม่มีให้ปรึกษาสติ หากยังไม่เกิดให้สร้างจังหวะ เดินจงกรม รู้ตัวให้มากๆ แล้วจะรู้วิธีไม่ให้ครัวครอบนั้นเป็นอย่างไร "อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ความสุขที่แท้ก็มีแต่อยู่ในครอบครัวนั่นแหละ".

๕๘.

ถาม

สืบเนื่องจากการเจริญสติปฏิบัติธรรมมาต้องแต่ ปี 2543 เป็นต้นมา ได้เข้าฝึกปฏิบัติเกือบทุกปีและปีนี้พบว่าเมื่อได้เจริญสติในตอนเช้าของทุกวันจะได้อารมณ์ในการปฏิบัติมากขึ้น ทั้ง ๆที่ไม่ได้มีการเดินจงกรม และเหมือนกับว่าจะเห็นอารมณ์โกรธของตัวเองมากขึ้น อาทิตย์ก่อนไม่สามารถดับได้ โกรธอยู่นาน แต่มาวันนี้กลับพบว่าเวลาที่เราโกรธ สิ่งที่เกิดกับตัวเองคือ ตาไปรับรู้ คือ ดูแล้วมาแปรผล คิด ตอนนั้นรู้ได้ทันทีเลยว่า ความโกรธกับเราเกิดขึ้นที่ตา ได้รับรู้ และบางทีอาจมีเสียงเข้ามาผสม ทำให้ได้คิดว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรานี่แหละ ที่เป็นสิ่งที่ก่อความทุกข์ให้เราเอง หาใช่ใคร ช่วงนี้ได้อารมณ์ปกติ ไม่โกรธ เฉย บางครั้งเบื่อ ไม่อยากทำอะไร แต่ก็อ่านข้อคิดจากพระอาจารย์ ว่าให้เจริญสติบ่อย ๆ เหมือนจิตเปลี่ยนไปแล้ว แต่ไม่ค่อยได้ปฏิบัติมากเจริญสติวันละ ชม. แต่จะกำหนดสติไปกับการดำเนินชีวิตเป็นส่วนใหญ่ค่ะ

ตอบ

ไม่ควรสันโดษมักน้อยในกุศลธรรม , กุศล หมายถึงความฉลาด ความแหลมคมของธรรมชาติปัญญาที่มีอยู่ในจิต จงเพียรพยายามสู่หนทางและเป้าหมายให้ไว...ความประมาท บัณฑิตย่อมติเตียนเสมอ.

๕๗.

ถาม

จากผู้ไร้เกราะป้องกันทางธรรมชาติ เมื่อได้กำจัดความเครียด วิตกกังวลได้แล้ว ควรกำจัดสิ่งใดต่อไป

ตอบ

ความทุกข์ในจิตของคนเรามีอยู่ ๓ ระดับ

๑.ระดับอยาก คือ นิวรณ์ ๕ ได้แก่ ๑.กาม, ๒.หงุดหงิด เครียด วิตกกังวล, ๓.ง่วงเหงาซึมเศร้า ไม่ปลอดโปร่งโล่งใจ ๔. ฟุ้งซ่าน อดีต อนาคต สมาธิสั้น ๕.ชอบลังเลสงสัยไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจในพุทธภาวะ
๒.ระดับกลาง คือ โทสะ โลภะโมหะ ได้แก่ ๑.อารมณ์โกรธ เคียดแค้น ชิงชัง ๒.คิดอยากได้นู่นอยากได้นี่ ๓.หลงรูปหลงนาม หลวงรักหลงชัง หลงเข้าไปในความคิด หลงอัตตาตัวตนว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
๓.ระดับละเอียด คือ อวิชชา ได้แก่ การที่จิตยังไม่เกิดสภาวธรรมรู้แจ้งในธรรมชาติของจิตเอง

และนี่ก็คืองานของมนุษย์ทุกรูปทุกนามที่ต้องทำ ต้องกำจัดออกไปจากชีวิต เพราะมันเป็นกิเลสที่บดบัง ปกคลุมจิตให้เวียนว่ายอยู่ในความมืดมิด จิตจะวกไปวนมาอยู่ในอารมณ์เหล่านี้ไม่มีวันสิ้นจบ หากไม่ทำลายอวิชชาเสียได้ สังสารวัฏก็จะทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างนี้...บุรุษผู้รักสันติธรรมในชีวิตก็จงพึงทำลายสิ่งที่มารบกวนจิตทั้งสามอย่างนี้เสียเถิด

แต่ความจริงอันหนึ่งที่พึงสำเหนียกก็คือเวลาได้อารมณ์ สมาธิดีก็เหมือนละกิเลสได้แต่ถ้าสมาธิหดหาย ก็กลายกลับเป็นนรกอีกครั้ง พลังจิตที่จะนำไปกำจัดกิเลสขั้นต่อไปก็อ่อนล้าหมดกำลังเสียแล้ว มันทำไม่ได้อย่างที่อยาก

หลุดพ้นเพราะสมาธิข่มไว้เรียกวิกขัมภนวิมุติ
เกิดปัญญาเล็กน้อยหลุดพ้นได้เป็นครั้งคราว หรือชั่วระยะขณะใดเวลาหนึ่งเรียก ตทังควิมุตติ
หลุดพ้นเพราะเกิดญาณทัศนะเป็นเจโตวิมุติและปํญญาวิมุติเรียก สมุจเฉทวิมุติ

หากเพียงเพราะเรากำจัดความเครียด ความวิตกกังวลได้ อันเป็นผลมาจากสัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจเบื้องต้นในชีวิตได้เฉยๆ อันนี้ยังไม่ไปไหน ต้องเริ่มที่การอนุบาลจิตไว้ก่อนแล้วเมื่อมันโตเต็มวัยจะไขคำตอบของความสงสัยที่เหลือให้เอง.

๕๖.

ถาม

สิ้นเดือนนี้ หน่วยงานที่ผมทำงานอยู่อาจจะไม่ต่อสัญญาการจ้างงาน ผมรู้สึกกังวลใจมากถ้าจะต้องตกงาน ผมควรจะทำยังไงดี หลวงตาพอจะเมตตาแนะนำลู่ทางหางานใหม่ให้ผมได้ไหมครับ

ตอบ

ช่วงนี้ทางวัดเรามีผู้คนมากมายเข้ามาสู่สายธรรม มีทั้งคนตกงาน ผู้มีงาน และมีผู้มีกินโดยไม่ต้องทำงาน แต่ต่างก็เป็นทุกข์ พวกเขาเหล่านั้นต่างมีความเห็นร่วมกันหลังจากที่ฝึกปฏิบัติผ่านไปแล้วว่า ทุกข์ที่แท้ ปัญหาชีวิตจริงๆมีอยู่สิ่งเดียวคือเรื่องของใจ อย่างไรก็ตามแม้งานนอกจะไม่มี แต่งานในอย่าได้ละ งานพระให้เอาใจใส่ รู้สึกตัวเข้าไว้ อย่าให้หลงให้ลืม... หากจะให้สนุกมาเรียนรู้ทุกข์ด้วยกันที่วัดจะดีไหม... บาตรเราก็เหลือ ผ้าเหลืองเก่าเราก็มี มัวลังเลอยู่ใย บวชเต๊อะ ทิดโอ หลวงตาว่าจะอี้หนา...แต่อย่าลืมใช้หนี้ให้หมดก่อนเน่อ.

๕๕.

ถาม

ดิฉันได้ไปปฏิบัติธรรม ในช่วงวันปีใหม่ เพราะทำใจไม่ได้เรื่องสามีไปทำผู้หญิงอื่นท้อง แล้วต้องแต่งงานในวันปีใหม่ที่ผ่านมา กลัวตัวเองจะไปงานแต่งงานแบบไม่ได้รับเชิญ ซึ่งอาจเกิดปัญหาอื่นตามมาอีกมากมาย
ในวันที่7 ของการปฏิบัติ ดิฉันเริ่มกำหนดรู้ตั้งแต่ตื่นนอนตลอดจนทำกิจกรรมอื่น ซึ่งแต่ก่อนจะกำหนดรู้เฉพาะในทางจงกรม จิตใจจะเบิกบานทั้งวันไม่ง่วง เพราะนึกถึงนิทานขุนขี้ค้านที่หลวงตาเล่า ทำให้พอเดินได้สักพักจะรู้สึก ว่าง ความคิดมันไม่มี ที่เคยคิดเรื่องสามีว่าจะตัดสินใจยังไงนั้นมันหายไป มันว่าง มันสบาย การที่ไม่คิด มันสบายอย่างนี้เอง หนูมีสติหรือยังคะ เขาบอกว่าสติมาปัญญาเกิด แต่มันว่างๆน่ะค่ะ มันไม่ได้คิด มันจะเกิดปัญญาตอนไหนคะ

ตอบ

มีบ้างแล้ว ก็การที่สติรู้ตัวสามารถไปทำลายความทุกข์ที่เกิดจากความนึกคิดปรุงแต่ง เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา ผัวเราดันไปเป็นผัวเขา มันหลุดออกไปจากใจ จิตมันว่าง มันไม่ต้องไปแบกความยึดติดแบบนั้นอีก สิ่งๆนี้แหละเขาเรียกว่าปัญญา แต่จะอยู่ในระดับไหนนั้นเป็นอีกเรื่องนึง สิ่งๆนี้มันหาซื้อด้วยเงินทองแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งของไม่ได้ แล้วมันก็เป็นเรื่องเฉพาะตน ใครทำใครได้ ใครทำใครรู้ อยู่ที่ใจใครใจมัน...อาการเช่นนี้ยังมีอยู่อีกมากกว่านี้ มิใช่มีเพียงเท่านี้ เธอควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้ เจริญสติให้มาก พัฒนาให้ต่อเนื่อง แล้วจะได้สัมผัสกับธรรมที่เป็นอธิปัญญา.

ถาม

แต่พอกลับมาบ้าน มันก็คิดอีก คือดิฉันอยากถามว่าปัญหาต่างๆในชีวิตคนเรา ถ้าเราไม่คิด รู้สึกสบาย ไม่ทำอะไรกับมันเหมือนตอนที่เดินจงกรมวันที่ 7 มันจะแก้ปัญหาในชีวิตได้อย่างไร หรือว่าถ้าเราไม่เข้าไปยุ่งวุ่นวายกับปัญหา ปัญหาจะจัดตัวของมันเอง

ตอบ

การแก้ปัญหาชีวิตเธอต้องแยกแยะให้ออก โดยมองจากพื้นฐานเดิมของธรรมชาติคนเรานั้นว่ามันมีกายกับจิต โลกกับธรรม... ปัญหาทางโลกก็ต้องแก้ด้วยโลกียปัญญา โลกเขาใช้สมมติกันอย่างไร ก็แก้ไปตามนั้น หนึ่งมันสมองกับสองมือคืออุปกรณ์ แต่หากไม่มีสติ สมาธิที่มั่นคง เราก็จะไม่สามารถมองอะไรที่ลึกซึ้งถึงก้นบึ้งของสาเหตุ ปัญหาที่แท้จริงตามหลักของอริยสัจได้ การแก้ปัญหาทางโลกก็จะเป็นแบบฉาบฉวยผิวเผิน ยุติปัญหาได้ชั่วขณะหนึ่งๆเท่านั้น มันเป็นปัญญาสมมติ ไม่ใช่สัจจปัญญา คนทั้งหลายในโลกนี้ถึงได้ตามแก้ปัญหากันแล้วๆเล่าๆไม่มีวันสิ้นจบอย่างเธอนี้ไงล่ะ

ถ้าไม่หลงปรุงแต่งว่าคนนี้หล่อ นิสัยไปกันได้ สเป็คฉัน ก็คงไม่ถูกไอ้หมอนี่มันทิ้งไปง่ายๆอย่างนี้ แหม..มันไม่รู้เหรอว่าเราเป็นทุกข์!!! จนเกือบจะตามไปส่งมันเกิดใหม่แล้ว มันก็ยังไม่รู้ตัว... นี่เป็นเพราะเราติดความคิดแล้วเลยเถิด จนได้ทำพิธีสมมติว่ามันเป็นผัวเรา แหม...ตอนเข้าพิธีแต่งงานเขาเอาฝ้ายมัดหัวมันไว้ มันก็ยังมุติออกไปจนได้ ก็มันสมมุติไง เธอไปจริงจังกับสมมุติที่มันไม่ใช่ความจริง พอมันเปลี่ยน ยืมเขามาใช้ พอเขาตามมาเอาคืน มันก็ทุกข์อะไรทำนองเนี๊ยะ ... ถ้าไม่เผลอตอนนั้นน่ะเหรอ ป่านนี้อาจจะรู้แจ้งไปแล้วก็ได้ เพราะสมมติตั้งแต่ครั้งนั้นนั่นเทียวทำให้มีทุกข์จนถึงวันนี้

แต่พอคิดอีกที ก็อย่าไปโทษเขาเลยดีกว่า เพราะเขาก็เป็นเพียงก้อนทุกข์ที่ไม่รู้ธรรมก้อนนึงเท่านั้น ซ้ำร้ายไม่ได้เจริญสติเหมือนเรา มันจะเห็นธรรมะกับผีอะไร คงปล่อยใจไหลไปตามความปรุงแต่งตลอดล่ะสิท่า เพราะเราเองก็มั่นใจอยู่ลึกๆแล้วใช่ไหมว่าเรานี้ดีที่สุดแล้ว คนที่ปล่อยวางเราถือว่าโง่มากว่างั้นเถอะ

เอ้า..หลวงตาจะสรุปล่ะนะว่าปัญหาทุกอย่างมันเกิดที่เขาและเราต่างควบคุมจิตไม่ให้ปรุงแต่งไม่ได้ ต่างคนต่างปรุงแต่งไปตามความอยากของตัวเอง ศีลไม่เสมอกัน (สีลสามัญตา) การดำเนินชีวิตไม่ตรงกัน, ความคิด ความเห็น ความอยาก (ทิฐิสามัญตา) ก็จึงไม่ตรงกัน จงปล่อยวางเขา กลับเข้ามาเอาขันธ์5 ของเราจะดีกว่า เกิดอารมณ์ขึ้นมาคราใด สลัดไปครานั้น ยัง โลเก ปิยะรูปัง สาตะรูปัง เอตเถสา ตัณหา ปะหิยยะมานา ปะหิยยะติ เอตถะ นิรุชฌะมานา นิรุชฌะติ ...สิ่งใดมีสภาวะเป็นที่น่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจ มีสภาวะเป็นที่ยินดีในโลก, ความทะยานอยากนี้ เมื่อบุคคลจะละย่อมละได้ ในจิตหรือความคิดนั้น เมื่อจะดับ ย่อมดับให้ได้ในที่นั้นๆ ขณะนั้นๆ.

สิ่งที่เธอทำได้ในวันที่เจ็ดนั้น มันถูกแล้วเพียงแต่มันยังไม่มากพอที่จะล้างความสงสัย ความทุกข์ใจออกไปได้หมด สติคือน้ำ เอาไปล้างขันธ์สกปรกออกไปจากจิต แล้วชีวิตจะตื่นเบิกบานจากทุกข์ได้ อันนี้เป็นปัญญาที่เกิดจากจิต ไม่ได้คิดเอาตามตำรา หายากนะ ปัญญาอย่างนี้น่ะ.

ถาม

และถ้าเราอยากให้ความคิดมันหมดไปเราก็ต้องเจริญสติทุกขณะใช่ไหมอุปาทาน กิเลสมันหนา มันอันตรายสำหรับการดำเนินชีวิตไหมคะ

ตอบ

เราควรตั้งจิตไว้กับความปกติ อย่าพยายามเข้าไปในความคิด ออกมาอยู่กับความรู้ตัวทั่วพร้อมที่เป็นไปในกายและให้รู้เท่าทันการปรุงแต่ง หากมันยังตามชวนทะเลาะเกาะเกี่ยวก็ต้องดิ้นสลัดมันให้หลุด วิมุตติออกจากความผูกพันนั้นให้ได้ หากอยากให้จิตมีกำลัง ทุกข์เกิดมาทีไร สลัดทิ้งได้ทันที ดุจเสลดที่อยู่ในปลายลิ้น อันบุคคลผู้รู้ย่อมขยะแขยงเหนื่อยหน่ายถ่มทิ้งได้อย่างรุนแรงและเร็วไว... พลังอันนี้แหละที่จะช่วยการเหวี่ยงทิ้งความคิดเกิดขึ้นอย่างรุนแรงจนมันไม่กลับมาเกิดอีก... ฉันใดก็ฉันเพล เอวัง โหตุ.

๕๔.

ถาม

ปัจจุบัน หนูทำในรูปแบบเฉพาะเวลาว่าง เพราะหนูติดการทำในรูปแบบ จิตไปเกาะติดในความว่างสบายแต่ไม่เกิดปัญญา มาทราบตอนที่ได้มีโอกาสอ่านหนังสือของหลวงตาและหลวงพ่อดิเรก หนูจึงทราบว่าหนูทำวิปัสสนาไม่เป็น ในชีวิตประจำวันหนูจะตามรู้จิตบางครั้งก็ทัน บางครั้งก็ไม่ทัน เห็นจิตชอบเผลอไปคิดบ่อยมาก นาทีหนึ่งบางครั้งเป็นสิบเรื่อง ถ้าไม่ปรุงแต่งก็จะดับเอง จะปรุงแต่งน้อยลงและทุกข์น้อยลงด้วย ถ้าทราบว่าจิตเผลอไปคิด มันก็จะดับไปเอง ช่วงไหนที่มีเวลาก็จะการปฏิบัติแบบเคลื่อนไหวทำให้จิตสงบและมีพลังมากขึ้น การปฏิบัติบางครั้งก็รู้กาย บางครั้งก็รู้ใจ บางครั้งก็รู้เวทนา สามารถเอาสติอยู่ที่กายได้ดี ขึ้น แต่ยังมีเผลออยู่ ไม่ทราบหนูปฏิบัติถูกหรือไม่ ต้องปรับปรุงหรือแก้ไขอะไรบ้าง

ตอบ

ปฏิบัติถูกแล้ว แต่การดูควรให้ต่อเนื่องมากกว่านี้ ทำให้ชำนาญ เป็นวสี สติจะได้คม ตัดอารมณ์ได้ไวกว่านี้ ตัดความทุกข์ทิ้งได้ไว ปล่อยวางการปรุงแต่งได้เร็ว เห็นการเกิดดับของทุกข์ได้ หายสงสัยนั่นแหละคือปัญญา พยายามอีกนิด ใกล้ชิดพุทธะเข้าไป เดี๋ยวใจก็ตื่นเบิกบานเองแหละน่ะ.

๕๓.

ถาม

พอจะมีข้อมูล คำสอนของหลวงตา ที่เกี่ยวกับ คนเสื้อสีเหลือง สีแดงและการปรองดอง สมานฉันท์ไหมครับ ถ้ามีจะถือว่าเป็นบุญกุศลอย่างสูงที่นำมาเผยแผ่ให้ผมบ้าง และเป็นเครื่องชี้ทางให้กับสังคมในปัจจุบัน

ตอบ

ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างสูงสุดสำหรับพวกเสื้อเหลืองเสื้อแดงก็คือ ถอดเสื้อทิ้งซะ ละสมมติอัตตาตัวตนเสียให้หมด อย่ามัวหลงตนว่าทำเพื่อบ้านเมืองกันนักเลย แม้แต่ตัวตนของตัวเอง เขาก็ยังไม่ได้เรียนรู้ ธาตุ4 ขันธ์ 5 ตัวกู ตัวมึง โทสะ โลภะ โมหะ มันทำให้เป็นทุกข์แค่ไหน มันทำร้ายตัวเองและผู้อื่นสังคมรอบข้าง เขาไม่เคยกลับมามองดู ป่วยการที่เขาจะรู้ถึงสมุทัยทุกข์ ว่ามันเกิดมาจากอะไร ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน เกิดดับอย่างไร ยากเกินไปสำหรับคนพวกนี้ รวมทั้งพวกสีกากี สีเขียว ฯลฯ ด้วย

ว่าไปแล้ว ประชาธิปไตย ก็คือพลังชัยของคนหมู่มาก เป็นเกมส์ตัดสิน ถูกสมมุติ อาจจะไม่ถูกใจ ถูกใจ อาจไปกันไม่ได้กับสมมุติ แต่ทั้งถูกใจและไม่ถูกใจ ถูกผิด ก็เป็นสมมติธรรมทั้งนั้น สังคมเขาให้ค่าแค่มาทำให้เกิดธรรมยุติ (ยุติ = หยุด, ธรรม=ปัญหาหรือสาเหตุ) ไปเอาจริงเอาจังกับอะไรข้างนอก งานข้างในยังไม่ได้เริ่ม เสขธรรม เสขภูมิ ยังไม่ปรากฏ น่าสลดใจแท้ๆ แม้กระนั้นก็ยังอ้างตนว่าเป็นคนผู้ปฏิบัติธรรม อยากขำออกมาเป็นภาษาฝรั่งจริงๆ... ถ้าจะทำเพื่อบ้านเมือง ขอให้กลับมาเน้นเรื่องจิตใจตัวเองจะดีกว่า มันจะแก้ปัญหาได้ตรงประเด็น อธิบายเช่นนี้ หากยังไม่รู้ไม่เห็น ก็ใคร่เชิญชวนมวลผู้ร่วมโลกเกิดแก่เจ็บตายทั้งหลาย ทั้งสิ้น ได้เข้าร่วมฝึกอบรมการเจริญสติตามศูนย์ปฏิบัติธรรมที่ท่านผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบได้ประกาศไว้ดีแล้วด้วยเถิด.

๕๒.

ถาม

ผมจะขอถามหลวงตาว่า "คู่แห่งบุรษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ" มีความหมายว่าอย่างไรครับ

ตอบ

เป็นมาตรฐานในการชี้วัด คือ สักกายทิฎฐิ ,วิจิกิจฉา,สีสัพตปรามาส,โลภะ,โทสะ,โมหะ,รูปราคะ อรูปราคะ,อุทธัจจะกุกกุจจะ,มานะ,อวิชชา (คำแปลดูในหนังสือทำวัตร) หมายถึง สาวกของพระพุทธเจ้า หรือผู้ฝึกจิตเข้าสู่หลักธรรมในพระพุทธศาสนาได้เป็นการจัดลำดับขั้นจิตของผู้เข้าถึงตามแห่งอริยภูมิ(ภูมิของอริยบุคคล) ตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงขั้นสูงสุดจะมีการจัดลำดับไว้เป็นคู่ๆ คือผู้ที่กำลังศึกษากับผู้ที่สอบเลื่อนขั้นจิตนั้นได้แล้ว เกณฑ์การจัดอับดับเสขะ หรือเสขะภูมิจะใช้กิเลสระดับอนุสัย สังโยชน์ 10 ตัว เป็นมาตรฐานในการชี้วัดคุณธรรมประกอบส่วนอื่นๆ เป็นเกณฑ์รองลงไป 4 คู่ บุรุษ ได้แก่

คู่ที่ 1 โสดาบัตติมรรค , โสดาบัตติผล , จบแล้วเรียก โสดาบัน

คู่ที่ 2 สกิทาคามีมรรค , สกิทาคามีผล, จบแล้วเรียก สกิทาคามี

คู่ที่ 3 อนาคามีมรรค, อนาคามีผล, จบแล้วเรียก อนาคามี

คู่ที่ 4 อรหัตตมรรค, อรหันตผล, จบแล้วเรียก อรหันต์,พระอเสขะ,พระขีณาสพฯ

เพื่อความเข้าใจในภาคปฏิบัติ จึงขอขยายความเพิ่มเติมดังนี้ .....ในโลกนี้เราอาจแยกสภาพจิตออกได้ 3 แบบ คือ

1.จิตแบบปุถุชน คือ ผู้ที่ปล่อยใจตนให้จมอยู่ในกระแสความคิดความอยาก ไม่ยอมทวนกระแส นิสัยโกรธ หงุดหงิด ราคะกล้า โทสะรุนแรง หลงสมมุติตนเองเอามากๆ อัตตาตัวตนสูง เพลินในเวทนา ยศฐา บรรดาศักดิ์ ตำแหน่งหน้าที่การงานหาพื้นที่ว่างในจิตแทบไม่มี เรียกว่าถูกกิเลสเผาตลอดเวลา หากเปรียบกิเลสเหมือนน้ำ คนพวกนี้ก็จะสำลักน้ำตายแล้วตายอีกอยู่อย่างนั้น ผลุบๆ โผล่ๆ ไม่รู้วิธีว่าย ไม่รู้ว่ามีฝั่ง

2.จิตแบบฤาษี คือ ผู้หลีกเร้นจากกาม สละวิถีชีวิตแบบสามัญชน มุ่งเน้นการฝึกจิตแต่ก็จะติดอยู่แค่สงบแบบสมถะ สงบแบบฤาษี ชอบเสพความสวย ไม่เกิดปัญญา เห็นไตรลักษณ์ในสรรพสิ่ง และความสงบที่ตนเสพอยู่ พยายามจำทำสมาธิให้นิ่งๆ ทำสมาธิให้เป็นตัวตน และหวังจะมีสิ่งนั้นอยู่กับตนเองตลอด เข้าใจว่าความสงบแบบนี้จะเป็นทีพึ่งของจิตได้ เป็นการเอาสมาธิมากดทับจิต ปิดกั้นการรับรู้จึงไม่เกิดปัญญา ไม่ใช่หลักการของวิปัสสนาในพุทธศาสนา

3.จิตแบบอริยะ คือจิตที่ห่างไกลจากกิเลส พ้นจากกรผูกพันของสังโยชน์ แบ่งเป็น 4 คู่ 8 ลักษณะ ดังนี้

3.1 โสดาปัตติมรรค คือผู้ที่สัมผัสตัวรู้ได้ชัดเจน เป็นสัมมาสติระลึกรู้กาย จิต ได้แล้ว แต่หลุดๆ หายๆ เป็นผู้เห็นทางและกำลังฝึกประคองจิตตนให้อยู่ในทาง แม้จะตกออกนอกทางคือ ติดอารมณ์บ่อยๆ แต่ก็สลัดออกได้ จิตในลักษณะนี้จากการที่อยู่กับปัจจุบันได้บ้างระดับหนึ่งแล้ว เพราะเกิดการปล่อยวางอดีต อนาคต จึงทำให้เกิดปัญญาเห็นความจริงของชีวิตขึ้นมาระดับหนึ่ง

3.2 โสดาปัตติผล คือผู้ที่สามารถประคองตัวรู้หรือสติสัมปชัญญะได้จนถึงขั้นเกิดเป็นสมาธิ สู่ยถาภูตญาณ เห็นการเกิดดับในรูปนาม จนคลายความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นไปในกาย คลายอัตตาตัวตน อีโก้ที่จัดจ้านออกไป ไม่สงสัยในพุทธภาวะว่าสามารถดับสมุทัยของความทุกข์ที่เกิดจากความคิดปรุงแต่ง และอนุสัย สังโยชน์เบื้องต้นบางตัวได้ ส่งผลต่อการสลายความเชื่อถือในประเพณีพิธีกรรม ความขลังศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถือเป็นความงมงายระดับเปลือกนอกของจิตได้อย่างสนิท

3.3 สกิทาคามิมรรค คือผู้ที่พัฒนาสติจนมีกำลังสามารถเห็นความคิดปรากฏเกิดขึ้นเมื่อใดก็ดับได้เมื่อนั้น แม้จะยังหลงปรุงแต่งอยู่บ้างแต่ก็จะไม่ยืดยาว ทุกข์ยังมีอยู่แต่ก็แก้ได้ สลัดอารมณ์เป็น รู้ทันเมื่อใด ดึงจิตกลับคืนมาอยู่กับปัจจุบันได้เมื่อนั้น การเกิดภพชาติปรากฏช่วงสั้นๆ ความโลภ โกรธ หลง จืดจางเพราะออกจากความหลงยึดติดในอารมณ์-ความคิดปรุงแต่งได้ไว

3.4 สกิทาคามิผล คือผู้ที่จิตเกิดญาณหยั่งรู้ถึงความเบาบางจางคลายของตัวโกรธ โลภ หลง ขันธ์ห้าว่างจากการยึดเกาะของอุปาทานเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน สมาธิตั้งมั่น กายเบา จิตเบา ความเพียรในรูปแบบจะไม่ต่างกัน คือสติกำหนดรู้ได้ค่อนข้างสม่ำเสมอ... อนิจจัง อนัตตาในจิต ในผัสสะจะชัดเจนกว่าที่ผ่านมา

3.5 อนาคามิมรรค คือผู้ที่เกิดวิปัสสนาญาณสามารถฟันฝ่ากิเลสสังโยชน์เบื้องต้นมาได้แล้ว แต่อุปสรรคหรือคู่ต่อสู้ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือ ราคะ ซึ่งเป็นสังโยชน์ขั้นละเอียด ไม่ว่าจะปลอมแปลงมาในรูปลักษณาการเช่นใด สติในระดับนี้จะเป็นผู้สำรวจ ตรวจสอบ หยั่งรู้หยั่งเห็นได้ แต่ยังไม่สามารถเกิดจุตูปปาตญาณ เห็นการเกิดขึ้นของวิชชาที่ทำลายราคะนี้ดับไปได้

3.6 อนาคามีผล คือผู้ที่เกิดปัญญาญาณรู้ถึงการหลุดพ้นจากราคะได้แล้ว ดับกามาสวะ (ความกำหนัด ความยินดี ความพอใจ ติดใจ) ทั้งในรูป และสมาธิ ได้สนิท

3.7 อรหัตตมรรค คือผู้ที่กำลังบำเพ็ญวิชชา 3 (ตัวที่ 3) คือ อาสวขยญาณ (ญาณที่ทำให้สิ้นไปซึ่งอาสวะกิเลสประเภทอวิชชาสวะ)

3.8 อรหันต์ คือผู้ที่ดับสิ้นซึ่งอวิชชาทั้งปวงได้แล้วอย่างเด็ดขาด ไม่มีสิ่งใด ธรรมใดที่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ที่ต้องเรียนรู้อีก ศึกษาอีก จบภพชาติ พรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง วิมุติหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงแล้ว.

๕๑.

ถาม

ผมสนใจธรรมะมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วจนถึงปัจจุบันอายุใกล้ 30 แล้วก็ยังสนใจ(เข้าขั้นอยากละทางโลก)แต่ปัญหาของผมก็คือว่าทางบ้านหมายถึง พ่อ แม่ ไม่ค่อยสนับสนุนเท่าไหร่นัก แล้วตอนนี้ผมก็ได้สร้างกรรมขึ้นมาอีกคือผมมีแฟน ซึ่งดูแล้วแฟนผมก็ไม่ค่อยสนับสนุนอีกเช่นกัน ทุกวันนี้หากมีเวลาว่างผมจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับการปฏิบัติธรรม แต่ก็ปฏิบัติไม่ได้เต็มที่เท่าที่ควร ปัญหาทางพ่อแม่ ไม่มากเท่าไหร่ แต่ปัญหากับแฟนผม เธอไม่ค่อยให้ความสนใจด้านนี้มากนัก ใจหนึ่งผมอยากเลิกกับเธอเพื่อจะปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากทำร้ายเธอเพราะเธอรักผมมาก คำถามคือว่าผมควรจะทำอย่างไรดีครับ

ตอบ

ไปฝึกสติให้เข้มแข็งกว่านี้สักครั้งเถอะ แล้วค่อยตัดสินใจ เพราะหากแนะนำไปก็คงยังทำใจไม่เป็น เพราะฐานจิตที่จะมารยารับความรู้เช่นนี้ยังเบาบางไม่หนักแน่นพอ เพราะทิ้งก็ได้ อยู่ด้วยกันก็ดี ถ้ามีธรรมะแล้ว.

ไม่มีความคิดเห็น: