13 ธันวาคม 2555

qa 71-80

๘๐.

ถาม

ผมอายุ 50 แล้ว เป็นพ่อค้าเล็กๆ ชอบปฏิบัติแนวเคลื่อนไหวถูกจริตกับตัวกระผมมาก มีความก้าวหน้ามาก กระผมเปลี่ยนไปมากในทางที่ดีครับ อยากถามหลวงตาครับ กระผมต้องปฏิบัติอย่างไงให้จิตใจเข็มแข้ง ปล่อยวางได้ อายุก็มากแล้ว ค้าขายก็นานแล้วมีแต่หนี้มาก กลัวความล้มเหลว กลัวทำให้คนอื่นเดือดร้อน กลัวลูกๆจะลำบาก ทั้งๆที่เป็นคนขยันทำมาหากิน เป็นคนดีในสายตาคนอื่น ผมโทรหาหลวงตามาตลอดแต่ก็ไม่มีคนรับสาย ตอนนี้สับสนมากฟุ้งซ่านนะครับ กระผมเป็นคนปฏิบัติธรรมมาตลอด ดีที่คิดได้ ไม่งั้นคงแย่ครับ คงตายไปแล้ว ผมขอกราบมนัสการหลวงตาแนะนำการปฏิบัติแล้วการวางใจให้ถูก กระผมจะนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์

ตอบ

สิ่งมีชีวิตทั่วไป เช่น พืช ผล คน สัตว์ ที่มีความเข้มแข็งได้เพราะล้วนมีพัฒนาการ ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างกลมกลืน

ส่วนมนุษย์นอกจากปรับตัวทางกายภาพแล้ว ยังต้องปรับจิตใจให้มีภาวะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติของอารมณ์ที่เกิดดับ ธรรมชาติไตรลักษณ์อยู่ในจิต ซึ่งก็มีวิธีเดียว คือ ต้องฝึกสติเฝ้าดูรู้เห็นจนจิตเป็นเองภายในโน้นแหละ เมื่อรู้เห็นธรรมชาติของชีวิตตามความเป็นจริงเมื่อใดก็วางใจได้ถูกเมื่อนั้น เห็นแจ้งความจริงคราใด ความอยู่เหนือถูกผิดของใจก็เกิดขึ้นได้ครานั้น แต่ต้องเป็นการเห็นภายในเฉพาะตัว(สันทิฏฐิโก) รู้ได้ด้วยตนเอง (ปัจจัตตัง)

ปัญญานี้เกิดขึ้นแล้วจะเข้าไปทำลายความกลัว(มัจจุ)ทุกอย่าง เช่น กลัวไม่สมหวัง กลังผิดหวัง กลังสูญเสียความหวัง กลัวคนไม่เข้าใจเรา กลัวการติฉินนินทา กลัวทุกข์ยาก กลัวบาปกรรม กลัวเสียศักดิ์ศรี กลัวคนตีจาก กลัวพลัดพรากจากของรับของชอบใจ กลัวความป่วยไข้ กลัวตาย กลัวไม่รู้ธรรมฯลฯ

จิตใจที่เข้มแข็งด้วยการเกิดปัญญาปล่อยวางนี้ จะไม่มีทิฏฐิมานะได้ก็ด้วยการฝึกฝนสติให้ต่อเนื่อง เผชิญกับปัญหาด้วยปัญญาเห็นแจ้งในสัจจะของรูปของนาม มีภาวะอยู่โดยปกติวิสัย แล้วจะมีอะไรมาให้กลัว.....

เอ้า...รีบไปหาปฏิบัติฝึกจิตตามเทคนิครูปแบบตามสำนักต่างๆที่มีอยู่เกลื่อนเมืองไทยให้จริงๆจังๆกันเถอะ ทุกคนก็พอจะรู้อยู่ว่าปัญหา(ธรรม)ทั้งหลายเกิดมาจากจิต แต่น้อยคนที่คิดอุทิศชีวิตเพื่อเฝ้าดูเยี่ยงบรมครูสิทธัตถะ...พุทธศาสน์คงไม่ให้ประโยชน์หากพวกเรามีแต่จะโทษความไม่พร้อมอยู่ร่ำไป.

๗๙.

ถาม

วันนี้อยู่ดีดีเกิดเศร้าขึ้นมา แล้วน้ำตาเกือบไหล พอสติระลึกขึ้นได้ เห็นจิตผู้รู้ ไปรู้ถึงสังขารปรุงแต่ง กะดึงสัญญาขึ้นมา สติไประลึกถึงกระบวนการทำงานของขันธ์ห้า หลังจากนั้น น้ำตาก็หยุดไหล จิตตั้งมั่นขึ้นมา เค้าแสดงการเกิดดับให้เห็น อย่างนี้ยังอยู่ในร่องรอยของสติปัฏฐานสี่หรือเปล่าคะ

ตอบ

อยู่, คือเรามีสติรู้ ดูว่ามันเป็นธรรม (ชาติ), ไม่หลงเข้าไปปรุงเติมเสริมแต่ง ดูกุศล อกุศลเขาแสดง, รู้ทุกข์ เห็นทุกข์ อยู่เหนือทุกข์นั่นแหละคือสติปัฎฐาน, นี่เราอยู่ฐานที่ 3, 4 คือดูจิตและดูอารมณ์ที่ปรากฏในจิต ดูขันธ์ 5 ดูธรรมารมณ์ไงล่ะ

ตั้งใจพาใจไกลห่างทุกข์เรื่อย ๆ นะ เดี๋ยวสติว่องไวพาจิตไปไกลจากกิเลส อีกหน่อยมันก็คงตามหาเราไม่เห็นเองนั่นแหละ.

ถาม

อารมณ์ที่โลภ โกรธ หลง ถือเป็นส่วนไหนในขันธ์ห้าคะ สงสัยในปฏิจจสมุปบาทว่า เวลาโลภเกิดขึ้นมาแล้ว อยู่ส่วนไหน ใช่ตัวเวลาที่วิญญาณ เค้าไปจับนามรูป คือ ตัวสังขารการปรุงแต่งหรือเปล่าคะ

ตอบ

เมื่อจิตยังไม่รู้แจ้งสัจธรรม อวิชชาครอบงำความหลง โลภ โกรธ ก็คงจะยังมาอาศัยขันธ์ 5 เราเกิดเช่นนี้ร่ำไป แต่ไม่ถือว่าเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของขันธ์ เป็นเพียงอารมณ์ที่จรเข้ามาครั้งคราว เป็นอาคันตุกะ ไม่ใช่เจ้าของบ้าน, เหมือนน้ำกับตะกอน เป็นคนละอัน แต่ก็ปนกันอยู่

หลง โลภ โกรธจะแทรกซึมอยู่ในทุกข์ขันธ์ จะมากน้อยขึ้นอยู่กับเชื่ออุปาทาน แม้เวลาที่จิตเฉย ก็ใช่ว่าจะบริสุทธิ์ (หากยังไม่ผ่านมรรคญาณ ผลญาณมาก่อน) เพราะยังมีอวิชชา อาสาวะครอบงำเช่นกัน

ถ้าวิญญาณคือการรู้ถูกพัฒนา ประกอบด้วยสติปัญญา เห็นนามรูปคือความคิดแล้วดับ ไม่มีการปรุงแต่งต่อ ก็ไม่หลง โลภ โกรธได้เฉพาะขณะนั้น ๆ เท่านั้น เพราะสติยังไม่ผันตัวกลายพันธุ์เป็นวิปัสสนาญาณ หรือพลังแห่งญาณทรรศนะ... ถ้าจะดูหรือพิจารณาตามอาการทีละอย่าง ๆ เช่นนี้ จะดีหรือไม่ดี ช้าหรือไว ต้องขึ้นอยู่กับบุรพบท ปัจจัยเสริมตัวอื่นด้วย, จะให้ดีสู้ตัดทิ้งไปหมดเลยจะดีกว่า คิดขึ้นมาตัดทิ้ง ๆ ๆ ๆ ๆ เร็วเข้า ๆ ๆ ๆ ๆ แล้วเมื่อสติมันทันกับความคิด สมาธิมันพอกันกับกิเลส ปัญญามันถึงพร้อมคู่ควรต่อการทำลายอวิชชา แล้วเมื่อนั้นสิ่งมหัศจรรย์ที่เรียกว่าแผ่นดินไหว จะปรากฏขึ้นในตัวเธอ.

๗๘.

ถาม

การกำหนดรู้ เมื่อเราเคลื่อนไหวไปไหน จะต่างอย่างไรกับความคิดที่มีกิเลสพาไป ดิฉันไม่แน่ใจว่าเราตามกิเลสหรือไม่ เช่น ขณะที่เดินจงกรมอยู่เกิดอยากเข้าห้องน้ำ กำหนดรู้แล้วก็เดินไป หรือขณะที่เดินจงกรมอยู่คิดได้ว่าลืมปิดแก๊ส กำหนดรู้แล้วเดินไปปิด หรือขณะที่เดินจงกรมอยู่รู้สึกหิวกำหนดรู้แล้วเดินไปกินอาหาร โยมไม่สามารถแยกการตามรู้กับการตามกิเลสได้เจ้าค่ะ

ตอบ

ลองสังเกตแยกความอยาก ตัณหา กับความจำ เป็นธรรมดาออกจากกันอย่างเด็ดขาด ลองดูซิ ซึ่งตรงนี้อาจพบคำตอบได้ด้วยการทวนกระแส สติความรู้ตัวธรรมดาที่กิเลสยังแย่งพื้นที่จิตไปได้อยู่นั้นถือว่ายังขาดประสิทธิภาพในการทำหน้าที่รักษาใจที่ถูกต้อง ควรจะมีสภาพธรรมในระดับที่รู้กาย เวทนา จิต ธรรม ไปในคราวเดียวกัน คือต้องเป็นสติปัฎฐานสี่ที่สามารถนำความพอใจ และไม่พอใจในจิตในกายออกเสียได้ นี้เรียกว่าสติรู้กายในกาย หรือรู้รูปนามนั่นเอง.

ถาม

โยมสวดมนต์น้อยมาก แต่จะลงมือปฏิบัติเจริญสติเลย การปฏิบัติจะสมบูรณ์ไหมคะ

ตอบ

ไม่ไหว้ครู จะชกเลยก็ได้ ก็เห็นเขาน็อกคู่ต่อสู้มาแล้วหลายรายนับไม่ถ้วน จากโน่นสมัยพุทธกาลถึงปัจจุบัน ตัวอย่างก็มีเยอะแยะ... แต่ก็ไม่ใช่เพราะขี้เกียจนะ, สิ่งใดที่ถูกมองข้าม สิ่งนั้นมักจะมีค่ามหาศาลสำหรับเราเสมอ.

ถาม

โยมพยายามดูลมหายใจและรู้สึกตัวไปด้วย มันค่อนข้างอึดอัดและหายใจติดขัดจะแก้ไขอย่างไรคะ

ตอบ

กำหนดรู้ส่วนไหน รู้สึกกับอะไร ขอแค่อย่าให้จิตมันออกนอกตัวเป็นใช้ได้ทั้งนั้น จะรู้กายรู้จิตขอเพียงอย่าวิ่งเข้าไปในความคิดก็พอแล้ว, ถ้าเพียงแค่รู้จะสบาย ๆ แต่หากเข้าไปอยู่ในอาการ เข้าไปเป็นกับอาการ จะอึดอัดแบบนี้แหละ สังเกตให้ดี ๆ

และสาเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ก็เป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการภาวนาได้เช่นกัน ได้แก่

- ปฏิบัติด้วยความอยากมากเกินไป

- สติยังน้อย แต่ไปใช้งานเขามากเกินไป (หมายถึงด่วนดูจิต)

- เกิดจากอาการเพ่งจ้อง

- ขาดทักษะการวางจิต

- เป็นธรรมดาของจิต ที่ไม่อยากถูกผูกมัดไว้กับอะไรนาน ๆ

- สติยังไม่แข็งแรงพอ เข้าถึงสติที่แท้จริง (สติสัมโภชชงค์) ยังไม่ได้.

๗๗.

ถาม

การไม่เกิด ไม่ดับ คือจิตว่างจากการปรุงแต่ง เป็นปกติของจิต ไม่ครอบงำกิเลศและไม่ให้กิเลศครอบงำ เห็นความเป็นไปของกายของใจ เหมือนไม่รู้จะทำอะไรอีก ไม่รู้ว่าผมติด อรูป หรือเปล่า หรือผมรอแค่ถึงฝั่ง หรือเลยไปแล้ว

ตอบ

ความทุกข์มีทั้งหยาบ กลาง ละเอียด จงแยบคายถามตัวเองทุก ๆ ขณะจิต ที่คิดได้ว่า “ไม่ทุกข์จริงหรือ ๆ ๆ ๆ ? ”.

๗๖.

ถาม

จิตว่างก็ให้รู้ว่าจิตว่าง จิตปรุ่งแต่งก็ให้รู้ว่าจิตปรุงแต่ง รู้เฉย ๆ อย่าไปปรุงแต่งจิต ใจเป็นกลาง เราไม่มีในเรา บางวันรู้ บางวันเหมือนไม่รู้อะไรเลย ผมก็เลยเฉย ๆ เหมือนเรานั่งดูโจนขึ้นบ้าน เราเห็นโจรแต่โจรไม่เห็นเรา ผมเพี้ยนหรือเปล่าครับ แต่ผมรู้ว่าความทุกข์ในใจผมมันน้อยลง บางทีก็เผลอ ๆ ทุกข์เกิดที่ใจก็ต้องดับที่ใจ จะไปดับตรงไหนอีก หลวงพ่อผมบวชกายวันที่ 3 นี้ ขอให้หลวงพ่อมีสันติสุขในกายในใจ ผมก็เช่นกัน

ตอบ

ถ้ายังรู้ตัวอยู่ รู้ชัดเจนถูกต้องตามหลักของสัมมาสติ ก็ยังไม่ถือว่าเพี้ยนดอก หลักการสำรวจตัวเองง่าย ๆ คือดูความกำหนัดขัดเคือง ว่าลดลงหรือไม่ ใจอิสระจากทุกข์จริงหรือ

อาตาปี สติมาสัมปะชาโน เพียรระลึกรู้ เฝ้าดูได้อย่างต่อเนื่องหรือเปล่า หรือเป็นอารมณ์ที่ปรุงแต่งจิตเฉพาะบางจังหวะเวลา, ธรรมที่เป็นสวากขาตะธรรม คือต้องเป็นธรรมชาติเช่นนั้นตลอดเวลา (อะกาลิโก), เห็นแจ้งสิ้นสงสัยโดยไม่ต้องให้ใครพยากรณ์.

๗๕.

ถาม

อยากจะถามหลวงตาว่า การเกิดทุกข์เเล้วทำให้ดับไปทำไมมันยากจังคะ

ตอบ

สติที่เราฝึกมา พัฒนาได้แค่พอรู้ทุกข์อย่างผิวเผิน สมุทัยยังไม่รู้ ตัวมรรคก็ยังไม่เจริญมากนัก นิโรธก็เลยยังไม่ปรากฏ...

ฝึกลดละเลิกนิสสัย ลดเหตุปัจจัย ลดให้อาหารนิวรณ์ ฝึกตนเป็นคนแยบคาย ไม่เหนื่อยหน่ายต่อการทำความเพียร เรียนรู้สู้ความเกียจคร้าน กล้าผ่านอุปสรรคที่ยาก ๆ ฝืนละจากอัตตาตัวต้น ยอมเป็นคนผู้ไม่มีอะไร ๆ ๆ ๆ

... สมบัติภายนอกเพียงสี่ปัจจัย สมบัติภายในเพียงจิตผู้รู้ ผู้ดู ผู้เห็น ส่วนที่ต้องการเป็น นั่นเพียงสมมติมายา

ถ้าเฉยแล้วทุกข์มันก็จะดับ แต่ถ้าอยากให้มันดับ มันจะไม่ดับ ความลับมันมีแค่นี้แหละเธอ... จงอย่าใช้ความอยากไปดับความทุกข์ เพราะความทุกข์มันเกิดมาจากความอยากนั่นแหละ.

๗๔.

ถาม

สมองกับจิตต่างกันยังไงคะ

ตอบ

จิตคือความรู้สึก หรือสภาพรับรู้อารมณ์, สมองเห็นว่าเป็นก้อนสีขาว ๆ ไม่ใช่เหรอ (อยากได้รายละเอียดลองไปหาอ่านหนังสือ “ภิกษุกับนักปรัชญา” เขาอธิบายดี).

ถาม

นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตาคะ

ตอบ

ไม่เป็นอะไรเลยทั้งสองอย่าง, เป็นเช่นนั้นเองแหละ.

๗๓.

ถาม

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นสติได้อย่างไรเหรอคะ

ตอบ

ศีล สมาธิ ปัญญา คือ สมรรถนะ หรือคุณภาพของจิตมนุษย์... ปัญญา คือการรู้แจ้งเห็นจริง แก้ไขปัญหาได้ ปล่อยวางได้ แต่นั่นก็เพราะมีสมาธิคือจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่อผัสสะ ธรรมารมณ์ต่าง ๆ และที่จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ นั่นก็เพราะมีศีล คือความปกติไม่เผลอ

ในทางกลับกัน ไม่เผลอจึงตั้งมั่น และเพราะตั้งมั่นจึงทำให้เกิดการหยั่งรู้และเข้าใจ

อุปมาดั่งต้นไม้ต้นหนึ่งที่มีผล ดอก ใบ กิ่ง ก้าน สาขา และลำต้น ซึ่งล้วนก็เกิดมาจากเมล็ด... แต่ถ้าดูแบบตัดตอนก็จะเห็นว่ามีก็เฉพาะลำต้นเท่านั้นที่งอกออกมาจากเมล็ด ส่วนอื่น ๆ ก็ออกจากต้น ออกจากกิ่งก้าน เป็นปฏิจจสมุปบาท อาศัยกันและกันเกิดสืบทอดกันไปเป็นปัจจัยการ

สรุปก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดในตระกูลสติ ปู่ย่าตาทวด วงศาคณาญาติ โคตรเหง้าเหล่ากอ เขาเป็นสติ... ธรรมทั้งหลายรวมลงในความไม่ประมาท (สติ).

๗๒.

ถาม

หลังจากที่มาปฏิบัติต่อที่บ้าน หรือที่ทำงาน หรือเมื่อมีเวลาว่าง แต่จะทำในรูปแบบเจริญสติตอนเช้า สิ่งที่เกิดขึ้นคือพักหลังมาจะเห็นสิ่งใสๆ เป็นจุดใสๆประมาณเท่าหัวไม้ขีดไฟ บางครั้งถ้าเดินจะเห็นบางทีเมื่อมากำหนดรู้ที่อาการกาย จะเห็นอาการกายชัดขึ้น จุดใสๆนี้จะมาเอง บางทีไม่ต้องกำหนดก็จะมาเอง จุดใสๆนี้เป็นมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จนกระทั่งปัจจุบันและรู้สึกว่าจะชัดเจนขึ้น ถ้าวันไหนตื่นเช้ามาเจริญสติ วันนั้นจิตใจสบาย ไม่ค่อยสนใจอะไรมากมาย แต่พอเวลาเราต้องใช้ต้องคิดอะไร รู้สึกว่าจะมีประสิทธิภาพและคิดได้อย่างคล่องแคล่ว ในเรื่องความคิดนั้นจิตไม่ค่อยจะสนใจอะไร บางทีก็จะเฉยๆบางทีอย่างเวลาเตรียมสอนเนื้อหาที่ยากๆ ก็จะเข้าใจได้ง่าย จึงอยากจะเรียนถามหลวงตาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร และจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้า

ตอบ

อนุโมทนาในความเพียร อย่าไปใส่ใจกับความใสไม่ใส ใส่ใจในการทำหน้าที่ผู้รู้ที่เป็นกลาง ๆ รู้ซื่อ ๆ ตรง อย่าหลงเข้าไปในมายาใด ๆ ทั้งสิ้น ว่างไม่ว่างก็ให้รู้ เฉยหรือหงุดหงิดก็ให้รู้ หลงหรือรู้ก็ให้รู้ ... เน้นที่พุทธะ ละความสงสัย ใจจะยิ่งเป็นกลางมากกว่านี้

...สติอยู่กับกายให้ต่อเนื่องนาน ๆ ทำอะไรให้ช้าลงหน่อย ศึกษาเวทนาที่ทนได้ยาก ๆ บ้างก็จะดี ดูซิว่าใจเราจะมีอาการเป็นอย่างไร.

๗๑.

ถาม

ตั้งแต่ตอนที่ออกจากวัดมาความรู้สึกโล่งก็มีอยู่เรื่อยๆ ประมาณอาทิตย์กว่า ที่ไม่ทุกข์ร้อนกับสิ่งที่มากระทบ ไม่ติดกับอดีต ไม่กลัวอนาคต แต่ก็เหมือนเผลอ เหมือนยังไม่พอ มันเริ่มหายไป การรู้ทันอารมณ์เริ่มใช้เวลามากขึ้น ต้องทำไงคะ เริ่มติดงาน ไปปฏิบัติช่วงนี้ยังไม่ได้ หลวงตาช่วยแนะวิธีที่ทำให้สติกลับมาหน่อยค่ะ จิตเริ่มจะแพ้กิเลส แพ้ความอยากแล้วค่ะ

ตอบ

สติจาง สมาธิความตั้งมั่นของจิตมีน้อย ปัญญาความปล่อยวางอารมณ์จะเริ่มช้าลง จะติดอารมณ์ง่าย เหมือนรถที่แบตเตอรี่หมด ต้องนำไปให้ร้านเขาชาร์ตใหม่ หรือหากเป็นแบตเตอรี่แบบอัตโนมัติ เคลื่อนไหวเมื่อใดชาร์ตไปด้วยเมื่อนั้นก็จะดี, เมื่อใดที่สติอ่อนกำลัง กิเลสจะทำหน้าที่ได้ดี ปัญญาจะเสื่อมถอยด้อยกำลัง แม้มีเหตุผลแต่ก็จะใช้ไม่เป็น จะไม่ทนต่อการยั่วยุของกิเลส.

ไม่มีความคิดเห็น: