13 ธันวาคม 2555

qa 81-90

๙๐.

ถาม

อยากทราบว่า การได้อารมณ์คือมีสมาธิใช่ไหมคะ แล้วเป็นสมาธิแบบสมถะหรือวิปัสสนา สองอย่างนี้แตกต่างกันยังไง แล้วเราจะทราบได้ยังไงว่าเราปฏิบัติแล้วเราได้สมาธิแบบไหน ตอนที่ไปปฏิบัติโยมรู้สึกสบาย โล่งๆ เดินได้เรื่อยๆ ไม่เบื่อ อันนี้ถือเป็นสมาธิแบบสมถะหรือเปล่า แล้วสมาธิแบบวิปัสสนาเป็นยังไง เพราะฉะนั้นแนวทางที่วัดสอนคือใช้สมาธินำปัญญาใช่ไหมคะ

ตอบ

ใช่, ทั้งสองอย่าง, สมาธิแบบรู้ตื่นเบิกบาน กับสมาธิแบบไม่รู้ ... หากมีสติก็รู้ ไม่มีสติก็ไม่รู้ ... วิปัสสนานับอารมณ์ตั้งแต่รู้แจ้งเห็นไตรลักษณ์ในขันธ์ห้า...

หลักพุทธะ จะใช้ปัญญานำสมาธิ ... ตั้งมั่นกับปล่อยวางอันไหนเกิดก่อนหลัง... ฝึกปล่อยวางให้ได้แล้วใจมันตั้งมั่นเอง ... เอ้า...รีบเดินทาง จิตที่ว่าง ๆ นั่นแหละคือทางที่ต้องรีบเดิน ... เจออุปสรรคก็ใช้ปัญญาแก้ไข หากเอาชนะได้ใจก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิเองแหละ ... เมื่อใดที่ใจไร้ความเห็นทีแตกต่าง, ไม่มีเขามีเรา, ไม่มีกิเลส ไม่มีธรรมะ, ไม่มีพุทธะ ไม่มีมาร, ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา, นี่คือสมาธิที่เหนือสมาธิ ปัญญาที่เหนือปัญญา ... สิ่งนี้ต่างหากที่ควรรู้เห็น.

๘๙.

ถาม

ช่วงนี้สังเกตได้ว่าจิตของหนูจะมีอาการคล้าย ๆ จะหวงจิตตัวเองอย่างไรบอกไม่ถูก หลวงตาช่วยพยากรณ์ให้ด้วยค่ะ

ตอบ

ก็มีบางปรากฏการณ์ที่อาจเกิดกับบางผู้บางคนในบางช่วงบางตอนของขณะระยะเวลา เมื่อฝึกฝนอบรมจิต เช่น อยากอยู่คนเดียวเงียบ ๆ ไม่อยากพูดคุยพบปะสนทนากับใคร, ลักษณะอาการคล้ายหวงจิต ตระหนี่ใจ อะไรทำนองนั้น อาการเช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุ เช่น

1) เห็นโทษของการคลุกคลีกับด้วยบุคคล หรืออารมณ์อื่น ๆ อันจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาภูมิธรรมเบื้องสูงของตนเอง

2) เป็นภาวะของความสำรวมอินทรีย์ เป็นการสร้างเหตุปัจจัยต่อการรู้ธรรม เห็นธรรมให้ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

3) ติดความสงบ ความสบาย เลยอยากเสวยเวทนาอารมณ์นั้น ๆ

4) เกิดมานะทิฐิถือตัวว่าตนดีกว่าคนอื่น การพูดคุยพบปะสนทนากับผู้ไม่รู้มีแต่จะสร้างปัญหา ... ไร้สาระ

5) ขี้เกียจ น้อยใจ ไม่มั่นใจในความรู้ความสามารถ ภูมิธรรมสติปัญญาสมาธิของตัวเอง เลยเก็บตนไม่ให้คนได้เข้าถึง

6) เป็นมัจฉริยะ ความตระหนี่ เช่น 1. ธรรมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม ไม่อยากพูดคุยสนทนาปราศัย บอกกล่าวพูดคุยสิ่งที่เป็นอรรถเป็นธรรมแก่ผู้ใด 2.อาวาทมัจฉริยะ ไม่อยากให้ใครมาพบปะพูดคุยอยู่ในเคหะสถานของตน ไม่เอื้อเฟื้อความสะดวกสบายกายและใจแก่ผู้อื่น 3. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ ไม่อยากให้ผู้อื่นได้รู้ในสิ่งที่ตนรู้ ไม่อยากให้ผู้อื่นพบเห็นในสิ่งที่ตนเองได้พบเห็น 4.วรรณมัจฉริยะ ตระหนี่สังคม สถาบัน ระดับชนชั้นกรุ๊ปเกรด ฯลฯ ... สิ่งเหล่านี้จะเริ่มสะสมจากน้อยไปหามากจนถึงขั้นวิปลาสขาดปัญญา สติฟั่นเฟือนสุดโต่งไปเลยในที่สุด ... ต้องพยายามมองโลก (คือกายและจิต) ตามความเป็นจริง หากเรียนรู้ธรรมะจากของจริงที่เป็นจริงในชีวิตประจำวันทั้งภายในและภายนอกให้ชำนาญ ... ไม่หลงติดยึดอาการของธรรมภายนอกที่เป็นโลกีย์ธรรม หรือหลงจมอยู่กับธรรมภายในที่เป็นโลกุตรธรรม ทุกอย่างเพียงเพื่อรู้ เพียงเพื่อระลึก...ติดยึดอยู่กับสิ่งไหนกิเลสก็จะอาศัยสิ่งนั้นเกิดเช่นกัน.

๘๘.

ถาม

เมื่อคืนผมบังเอิญเข้าไปฟังหลวงพ่อเทียนสอนเกี่ยวกับการทำจังหวะ ผมฟังเสียงของหลวงพ่อเทียนแล้วผมซึ้งใจมาก ท่านพูดด้วยความรักจริงๆ ผมเลยเกิดแรงอยากปฎิบัติขึ้นมา ซึ่งผมเองก็นั่งสมาธิไม่เป็น แต่หลวงพ่อไม่ได้ให้นั่งสมาธิ ท่านให้ขยับมือตามจังหวะ เมื่อคืนนี้ผมลองฝึกดูมือขยับไปมาตามที่หลวงพ่อเทียนท่านสอน ตอนนี้ก็ยังจำไม่ได้ว่า 14 หรือ 15 จังหวะ แต่ผมสังเกตเห็นอะไรบางอย่าง ขอเรียนถามนะครับว่าปฏิบัติถูกหรือไม่ครับ เพราะผมอยากปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆ

1. ขณะที่มือขยับไปตามจังหวะจะมีความรู้สึกโล่งขึ้นมา 1 ครั้งต่อ 1 ท่าและจะเห็นความรู้สึกขึ้นมาเป็นบางคราว

ตอบ

ขณะที่กำลังทำสิ่งใดใจก็เฝ้ารู้อยู่ สติเป็นผู้ดู ตามดูจิตเป็นผู้แสดง.

ถาม


2. ตอนนอนก็เห็นร่างกายนอนตัวผมมันกลวงๆ รู้ว่ากำลังหลับอยู่เห็นแบบนี้แทบทั้งคืนตื่นมายังรู้สึกว่าจะไปทำงานไหวไหมเนี่ย กังวลเล็กน้อยครับ

ตอบ

การเห็นนั้นดีแล้ว แต่อย่าเข้าไปปรุงการเห็น อย่าเห็นแล้วยึด อย่าเห็นแล้วสงสัยลังเลใจ เห็นด้วยสติรู้ด้วยปัญญาที่สะอาด เห็นรู้อยู่คู่กับการปล่อยวาง

ถาม

3. พอตื่นมาวันนี้ก็รู้สึกว่าตัวเองเผลอไปบ่อย แล้วพอรู้ว่าเผลอแล้วมันจะรู้สึกแวบเข้ามาที่จิตใจ 1ครั้งสั้นๆ แล้วก็หลงต่อไปอีกครับ

ตอบ

เผลอก็รู้ว่าเผลอ นึกได้ สติมาก็ทำใหม่

ถาม

4. อยากรู้ว่าเจ้าความรู้สึกหรือสติที่หลวงพ่อเทียนสอน คือความรู้สึกหลังจากเผลอไปแล้วพอมีสติขึ้นมามันจะเห็นบางอย่างเกิดขึ้นแวบๆ แล้วดับไปใช่ไหมครับ ผมเรียกไม่ถูกจริงๆ มันรู้สึกว่ามีอะไรวาบๆ เข้ามา แล้วก็ดับไปเอง

ตอบ

รู้ทั้งเผลอและไม่เผลอ หากเป็นไปได้ต้องฝึกให้ถึงขั้นขนาดไม่เผลอ เลยจะเป็นการดี ส่วนปรากฏการณ์ใดๆ หากเห็นก็รู้เฉยๆ ระวังอย่าเอาตัณหา มานะ ทิฎฐิเข้าไปปรุงเติมเสริมแต่ง เพราะทุกอย่างธรรมชาติมันเกิดและดับของมันเช่นนั้นเองอยู่แล้ว เพียงแต่สติไม่ตั้งมั่น เลยไม่มีพลังที่จะเข้าไปรู้ความจริงตรงนี้ได้ มันเลยกลายเป็นความลับ เมื่อสติดี สภาวะถูกชะลอหรือตัดวงจรออก ธรรมหรือกฎธรรมชาติสิ่งนั้นจึงเผยตัวออกมา ทำให้มากจนไม่มีอะไรต้องเกิดหรือดับโน่นแหละให้ถึงธรรมเป็นธรรมดาของธรรมชาติสิ่งนั้นที่ไม่ถูกอะไรปรุงแต่งได้อีกต่อไปแล้ว.

ถาม

5. คืนนี้ตั้งใจว่าจะปฏิบัติต่อไป เพราะผมชอบหลวงพ่อเทียนครับ ไม่ทราบว่าผมปฏิบัติได้ถูกต้องบ้างแล้วหรือยังครับ

ตอบ

อนุโมทนากุศลศรัทธา...... หลักปฏิบัติที่เป็นไปในฝ่ายกุศลโดยส่วนเดียวได้แก่

1. สำรวมอินทรีย์

2. ประมาณในอาหาร

3. ฝึกสติรู้ตัวอยู่เสมอ

อีกอย่างหนึ่งหากศรัทธาดีอยู่แล้ว ก็ลงมือทำกันได้เลย โดยยึดหลัก

1. อาตาปี ขยันเพียรเพ่งเผาความปรุงแต่งอกุศลจิตทั้งหลาย

2. สติมา มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ

3. สัมปชาโน ให้รู้ตัวทั่วพร้อม เท่าทันตามคิด ความอยาก ปล่อยได้ วางเป็น ฯลฯ

๘๗.

ถาม

เคยส่งคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไปติดความว่าง หลวงตาให้ปฏิบัติบ่อยๆ เพื่อความชำนาญ ทำให้รู้สึกตัวมากขึ้น มีภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นขณะอาบน้ำ คือเห็นตัวเราไม่ใช่ตัวเรา แต่เกิดขึ้นเพียงขณะเดียวเห็นเป็นท่อนๆ หลังจากนั้นก็เป็นเหมือนปกติ ไม่แน่ใจว่าว่าสิ่งที่รู้เกิดจากรู้จริงๆหรือคิดเองคะ สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย คือการมองภาพโดยปกติจะชัดเจนเฉพาะที่อยู่เฉพาะหน้า แต่ส่วนอื่นจะเบลอ บางครั้งเขียนหนังสืออยู่มีคนมาพูดด้วยไม่ได้ยินเสียงที่เค้าพูดด้วย บางครั้งได้ยินเสียงที่อยู่ระยะไกลแต่ได้ยินเหมือนอยู่ใกล้ สำหรับการตามรู้ในชีวิตประจำวันทำได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องสร้างจังหวะ รู้สึกสนุกที่มีสภาวะต่างเกิดขึ้นเหมือนดูภาพยนตร์ แต่บางวันฟุ้งซ่านทำการสร้างจังหวะทำให้มีพลัง

ตอบ

ฝึกสติ รู้ปรากฏการณ์ ที่เกิดกับกายและใจ ไปเรื่อยๆ ให้ไปอ่านข้อ 4 ของคำถามที่ ๘๘.

๘๖.

ถาม

ดิฉันเคยไปปฏิบัติธรรมที่วัดโสมพนัสมาก็หลายปีแล้ว รู้สึกเหมือนตัวเองได้ชีวิตใหม่ ไม่งั้นคงทุกข์มากกว่านี้หลายพันเท่า หลังจากออกจากวัดก็รู้หลักการปฏิบัติ มีจุดยืนเป็นของตัวเอง แต่ด้วยสติยังไม่คมพอ ประกอบกับยังขาดความเพียร ความทุกข์จังมายืนรออยู่เรื่อยๆ ดับทุกข์ได้แต่เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกข์ที่ละเอียดที่กัดกร่อนจิตใจ ลึกๆ ยังตัดไม่ขาด

ดิฉันมีปัญหาเรื่องความผูกพันยึดติดกับบุคคลที่ตนเองเห็นว่าเป็นคนพิเศษ ความติดที่ทำทำดีด้วย เขาเข้าใจและรับนิสัยทุกอย่างที่เป็นเราได้ เขาเป็นสุภาพบุรุษในดวงใจ เขาเข้ากับครอบครัวได้ดี คบเขานานถึง7-8ปี ตัวจริงเริ่มออกเขาแสดงออกถึงความห่างเหิน ไม่สนใจใยดี ความเห็นแก่ตัวเริ่มชัดเจนขึ้นทุกขณะ ด้วยความเคยชิน ที่แต่ก่อนเคยมีเขา ไปไหนมาไหนด้วยตลอดจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พอทุกอย่างจบลง เราเริ่มอยู่คนเดียวไม่ได้ จิตมันหดหู่เมื่อไม่มีเขา ตัดใจไม่ได้จริงๆ รู้ทั้งรู้ว่าเป็นความทุกข์ พยายามสร้างสติ กำหนดรู้ แต่ก็ยังเอาชนะมันไม้ได้ น่าอายมากที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงตาแต่ไม่มีปัญญาตัดใจจากเรื่องนี้ได้
ดิฉันติดเรื่องนี้อยู่เรื่องเดียวแกะออกจากใจยากมาก หลวงตาช่วยแนะลูกที่เบื่อหน่วยกับความคิดที่มันคอยรบกวนจิตใจอยู่เรื่อย อยากตัดเรื่องนี้ออกจากใจแล้วการปฏิบัติธรรมของลูกคงจะก้าวไกลไปมากกว่านี้

ตอบ

ไม้ดิบชุ่มด้วยยาง แถมแช่อยู่ในน้ำอีกด้วย หากแม้ประสงค์ต้องการไฟ แล้วนำเอาไม้นั้นมาสีกันให้เกิดไฟ จะรุนแรงแค่ไหน นานวันเท่าใดก็ไม่สามารถเกิดไฟได้... รักซึมลึก นี่พึ่งเริ่มรักก็พบทุกข์เสียแล้ว แล้วถ้ารักจริงๆ ยิ่งจะไม่พบทุกข์สาหัสกว่านี้หรือหนู รักประชดโลก ทุกข์ประชดชีวิตให้ตายกันไปข้างหนึ่งเลยเป็นไร สนุกดีออก , เอ้อ....คนเราก็อย่างนี้ ก็เท่านี้แหละ

ใช้ความเด็ดขาดบ้างเถอะ อย่ามองเห็นแต่ความดีของเขาเลย นั่นมันพวกพ้องของกิเลส ราคะ เข้าตา ตากำลังจะบอด แล้วแหล่ะ ให้พิจารณาเห็นโทษของกาม เป็นประโยชน์การออกจากกาม แล้วตัดใจฝึกยกจิตออกจากกาม เบื้องต้นก็ด้วยการตัดวงจรตามใกล้ชิดติดพันให้พ้นก่อน อาจเหมือนออกบวชถือศีลในถิ่นธรรม อารามป่า ฝึกเรียนรู้สุขจากความผลัดพราก การอยู่วิเวกคนเดียวอย่างมีสติ และฝึกทักษะการรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ แม้ที่สุดคือการเรียนรู้ธรรมชาติของจิต ปรากฏการณ์อุปทานในขันธ์ห้า ฝึกให้เกิดปัญญาเห็นไตรลักษณ์ในรูปในนามอย่างแจ่มแจ้ง.

๘๕.

ถาม

ขอกราบเรียนถามหลวงตาว่า การดูเวทนาดูอย่างไรและควรวางใจอย่างไรเจ้าคะ

ตอบ

เวทนามี 2 อย่าง

1.ทางกาย ได้แก่ อาการร้อน หนาว หิว เจ็บ ป่วย ฯลฯ

2.ทางจิต ได้แก่ ความพอใจ ความไม่พอใจ ความเฉย

การดูก็คือ การรู้อาการเหล่านี้เฉยๆ อย่าให้เกิดความรู้สึกว่าเราเป็นเวทนา หรือเวทนาเป็นเรา ,เสมือนเราไปเยี่ยมคนไข้ฉันใด เราก็เพียงเฝ้าดูเขาเป็น เราเป็นแค่คนมาเฝ้าไข้เท่านั้น.

๘๔.

ถาม

ผมนั่งสมาธิตั้งหลายครั้ง แต่ละครั้งผมไม่รู้เลยว่าตัวเองได้อะไรกับการนั่งสมาธิ เพราะบางคนก็ว่าตัวเองได้อย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง แต่ตัวผมเองไม่รู้สึกอะไรเลย ทุกวันนี้ผมก็นั่งสมาธิวันละ ๓๐ นาที ทุกวัน

ตอบ

ดูเหมือนจะมีอุปนิสัยต่อการนั่งสมาธิดี , แต่เพราะความเข้าใจในเป้าหมายและวิธีการยังไม่ชัดเจนพอ หากเป็นการแจวเรือก็เหมือนจะหันรีหันขวางอยู่ ณ จุดสตาร์ทนั่นแหละ ,สมาธิพุทธ สมาธิพราหมณ์ /สัมมาสมาธิ , มิจฉาสมาธิ ยังไม่ชัดเจนว่าอันไหนเป็นอย่างไร การกระทำ , เลยไม่เห็นผลความก้าวหน้าล้าหลังอันใด.

๘๓.

ถาม

ผมปฏิบัติแบบสมถะมา 5-6 ปีแล้วเพิ่งมาปฏิบัติแนวหลวงตามาก็ประมาณปีกว่ามาแล้วเห็นความก้าวหน้าและถูกกับจริตตัวเองมาก ผมอายุ 50 ปีแล้ว อาการอย่างนี้เป็นมาตั้งแต่หนุ่มๆ แล้ว คือกระผมเป็นคนจิตใจอ่อนไหวง่ายมาก แค่เห็นหมาแมวตายหรือดูหนังก็ร้องไห้ครับ แต่พอโตปัญหามันก็ยากขึ้น มันเกิดอาการท้อแท้แล้วก็ตัดปัญหาด้วยอยากฆ่าตัวตาย แล้วมันก็เกิดขึ้นบ่อยมากผมต้องปฏิบัติอย่างไรให้มีจิตใจที่เข้มแข้ง ตั้งแต่ผมกลับมาจากวัด ผมก็ฝึกการรู้สึกตัววันละประมาณ 3,000-4,000 ครั้งต่อวัน ผมทำอย่างนี้ถูกไหมครับ หลวงตามีอะไรสอนสั่งและแนวการปฏิบัติให้กระผมครับ มันทรมานมากครับ กราบสาธุหลวงตาครับ สาธุ สาธุ สาธุ

ตอบ

ปฏิบัติวันหนึ่งๆ 3-4 พันครั้ง ก็ยังนับว่าดีกว่าผู้ที่ยังไม่ปฏิบัติ แต่มันคงยังดีไม่พอ ตะกอนในจิตจึงไม่สลายหายไป ....ถูกสิ่งเร้าทีไรก็อยากตายทุกที ....เผ้าดูแล้วเหมือนจิตไม่เปิดเผย มีปมด้อย ไม่กล้าเผชิญปัญหา ไม่ยอมทำความเข้าใจในอารมณ์ ไม่กล้าดูจิต แบบซึ่งหน้า... ลองฝึกสติเฝ้าดูจิตโดยตรงดูสิ เผื่อจะรู้ความลับมัน , ไม่ต้องกลบเกลื่อนอารมณ์ ,ปกติจิตเป็นเช่นไร เวลาผิดปกติอาการมันเริ่มแบบไหน เป็นแบบปุ๊ปปั๊ปหรือขยับทีละน้อย อันนี้ต้องค่อยๆ สังเกต ,ช่วงไหนใจดี มั่นใจเราก็ลอง replay อาการนั้นขึ้นมาดูบ้างก็ได้ ดูแบบขนานหรือแบบอนุกรมก็ได้ อนุโลมปฎิโลม จากหัวไปหาท้าย หรือจากท้ายมาหาหัวก็ได้ ทำบ่อยๆ เดี๋ยวก็จะคุ้นไปเอง เผลอๆ อาจเจอปัญญาเห็นแจ้งแทงตลอดได้เลยนะ ให้แอบดูความคิดบ่อยๆ แต่อย่าเพ่งจ้องหรือเข้าไปอยู่ในความคิดเสียล่ะ.

๘๒.

ถาม

เห็นการดับไปของอารมณ์ แล้วไปเห็นความว่างคล้ายท้องฟ้าในเวลากลางคืน ความว่างนั้นคืออะไร หลวงตาช่วยคลายความสงสัย ขอบคุณมากค่ะ

ตอบ

สภาวะความสว่างที่ปรากฏภายในจิต ภาษาพระเรียกว่า “โอภาส” นี่คือจุดเริ่มต้นของคนเดินทางทางธรรม......ต่อไปก็จะก่อกำเนิดเป็นญาณ (ความรู้ความเข้าใจ) , เกิดปิติ(อิ่มใจ) ,เกิดปัสสัทธิ (สงบสงัดจากความคิดปรุงแต่ง), เกิดสมาธิ (จิตตั้งมั่นถึงขั้นคู่ความแก่การเป็นมรรคญาณประหารอาสวะสังโยชน์ได้) แล้วจึงหยั่งลงสู่การสัมผัสอุเบกขาธรรมอย่างแท้จริง....ส่วนมากคนปฏิบัติเมื่อเกิดโอกาสแล้ว จะเกิดความรู้เรื่องรูปนาม (กายานุปัสสนา) เห็นสมมุติบ้างเล็กน้อย แล้วธัมมารมณ์ตัวนั้นก็จะเสื่อม เพราะประคองไม่เป็น.

๘๑.

ถาม

เคยนั่งสมาธิแล้วจิตมีปิติก็รู้ จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตเพ่งไปก็รู้ จิตมีอุเบกขาก็รู้ เค้าเกิดดับให้เห็น แล้วก็เจอสภาวะหนึงที่เหมือนรู้แต่ไม่รู้อะไร พอไปได้ฟังโพชฌงค์ ภาษาไทย แปล ครั้งแรก แล้วอยู่ดีดีก็เข้าใจถึงกระบวนการโพชฌงค์ ปิติทำให้เกิดปัสสัทธิ ปัสสทธิทำให้มีสมาธิ มีสมาธิก็ไปรู้ถึงอุเบกขา แล้วจิตก็หลงไปคิดถึงคำพูดที่สงสัยมานานมาก ...ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต อยากจะถามหลวงตาค่ะว่า เวลาที่เราฟังอะไร จิตควรจะไปหลงคิด ปรุงแต่งสังขารต่ออย่างนี้รึเปล่าคะหรือว่าคิดก็ให้รู้ แค่นั้นก็พอ

ตอบ

เฝ้าดูจิตคิดก็รู้ เฉยไม่คิดอะไรก็รู้ แค่นี้ก็พอ แค่ขอให้รู้ต่อเนื่อง.....ในโพชฌงค์ ภาวนา ภาวิตา พหุลีกตา สังวัตตันติ.....เฝ้าดู รู้ให้ต่อเนื่อง , ทำให้มากๆ ทำให้แจ่มแจ้ง....สิ่งหนึ่งที่พึ่งสังเกต เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิด้วยสัมมาสติแล้ว กิเลสที่เข้าไปห่อหุ้มจิตไว้ก่อนหน้านี้จะถูกรู้เห็นและชำระล้างไปด้วยปัญญา ,แม้ความสงสัยก็เป็นกิเลสตัวสุดท้ายในนิวรณ์ 5 ที่เกาะอยู่ในจิต , หากไม่เกิดปัญญา ความสงสัยนั้นก็ไม่อาจหลุดไปจากจิตได้เลย ความสงสัยเป็นทุกข์ละเอียด

เราเองไม่ได้ตั้งใจจะคิดอะไรเลย แต่จู่ๆ มันก็ผุดออกมาจากจิต....เช่นนั้นเราไม่ความเข้าไปยุ่งกระบวนการของธัมมารมณ์ สภาวะกุศลธรรมชำระใจ ควรแต่แค่รู้ดูเฉยๆ มีสติและอุเบกขา รู้ดูธรรมชาติเกิดดับของจิตเท่านี้ไปเรื่อยๆ.

ไม่มีความคิดเห็น: